คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6432/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิการเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสของโจทก์ที่ 1 กับ น. แม้จะปรากฏว่า น. โอนสิทธิการเช่าดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่การโอนดังกล่าวมิใช่การโอนโดยเสน่หา น. จึงสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (5) โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับ น. เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ก็ไม่มีสิทธิการเช่าตกทอดเป็นมรดกแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ขาดองค์ประกอบความผิดที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งรับโอนสิทธิการเช่าต่อมาจากจำเลยที่ 1 ให้ร่วมรับผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 350
เมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องไม่มีมูลความผิดทางอาญา คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ทั้งสองย่อมไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350 เพิกถอนสัญญาเช่าที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ กับให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าหนี้และมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับนายนิกรเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2528 มีบุตร 1 คน คือโจทก์ที่ 2 ระหว่างการสมรสนายนิกรทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับวัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) เพื่อดำเนินการเปิดร้านอาหาร ตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2530 สิทธิการเช่าดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับโจทก์ที่ 1 วันที่ 25 มีนาคม 2536 นายนิกรหย่ากับโจทก์ที่ 1 โดยยังไม่มีการแบ่งสินสมรส วันที่ 17 มีนาคม 2541 นายนิกรจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 และนายนิกรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2541 ก่อนหย่ากับโจทก์ที่ 1 นายนิกรโอนสิทธิการเช่าข้างต้นให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ให้ความยินยอม และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับวัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) ขึ้นใหม่ ลงวันที่ 1 มกราคม 2536 โจทก์ที่ 1 ทราบเรื่องเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2541 จึงมอบให้ทนายความแจ้งเป็นหนังสือลงวันที่ 4 สิงหาคม 2541 ไปยังจำเลยที่ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับนายนิกรโอนสิทธิการเช่าซึ่งเป็นสินสมรสในส่วนของโจทก์ที่ 1 ด้วยให้แก่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบสิทธิการเช่าพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินคืนแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทต่อไป และวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งเป็นหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้ระงับการรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราว จนกว่าคดีที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 1 จะถึงที่สุด แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย และในวันที่ 23 กันยายน 2541 อันเป็นวันเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ในนามวัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) ก็ได้ทำสัญญาเช่าขึ้นใหม่กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำการแทน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้นายนิกรโอนสิทธิการเช่าอันเป็นสินสมรสระหว่างนายนิกรกับโจทก์ที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในระหว่างที่นายนิกรกับโจทก์ที่ 1 ยังเป็นสามีภริยาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏว่า นายนิกรโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (5) ที่นายนิกรกับโจทก์ที่ 1 ในฐานะสามีภริยาจะต้องจัดการสินสมรสสิทธิการเช่าร่วมกัน หรือนายนิกรต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 ในการโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าระหว่างนายนิกรกับจำเลยที่ 1 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1480 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ และจำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อไปได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายนิกรนั้น เมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าระหว่างนายนิกรกับจำเลยที่ 1 ครั้นนายนิกรถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาจึงไม่มีสิทธิการเช่าตกทอดเป็นมรดกของนายนิกรแก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของนายนิกรและจำเลยทั้งสี่ที่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดตามฟ้อง คดีของโจทก์ทั้งสองไม่มีมูล คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา คดีนี้ย่อมไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share