คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน แม้ว่าผู้พึงชำระจะมีหน้าที่ต้องชำระเป็นรายปี แต่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯมาตรา 38 ผู้รับการประเมินจะต้องชำระก็ต่อเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งการประเมินให้ทราบแล้ว เมื่อปรากฏว่าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 วันที่ 30 ธันวาคม 2530กรุงเทพมหานครเจ้าหนี้ยังไม่ได้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2530 ซึ่งจัดเก็บในปี 2531 และแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ต้องชำระค่าภาษี ดังนี้เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำหนี้ค่าภาษีดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯมาตรา 94.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ธนาคารศรีนคร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 กรุงเทพมหานครเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี2530 และ 2531 เป็นจำนวนเงิน 66,375.75 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2530 และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 34,768.25 บาท ส่วนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี2531 นั้น เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2530 และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 34,768.25 บาทจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 สำหรับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2531ให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สำหรับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2531 ให้ยกเสียทั้งสิ้น
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2530 ต่อเจ้าหนี้ตามเอกสารหมายจ.1 เจ้าหนี้ได้กำหนดค่ารายปีและคิดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 31,607.50 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินแล้วแต่มิได้นำเงินค่าภาษีมาชำระภายในกำหนด ทั้งมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวจึงเป็นภาษีค้างชำระซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบของเงินภาษีที่ค้างชำระเป็นเงิน 3,160.75 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2531 และเจ้าพนักงานประเมินมิได้ทำการประเมินและแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแต่อย่างใด พิเคราะห์แล้วปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ประจำปี 2531หรือไม่ เจ้าหนี้ฎีกาว่า หนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี2531 มูลหนี้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด(วันที่ 30 ธันวาคม 2530) แล้ว คือเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการใช้โรงเรือนและที่ดินในปี 2530 เพียงแต่การจัดเก็บเท่านั้นที่ตามสภาพจะต้องจัดเก็บในปี 2531 จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นรายปีก็ตาม แต่ก็ต้องเสียเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีและแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วตามความในภาค 3 เรื่องวิธีดำเนินการประเมินและจัดเก็บภาษีแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475ซึ่งผู้รับการประเมินจะต้องเสียภาษีภายในเก้าสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินตามนัยมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อเจ้าหนี้ยังมิได้ประเมินภาษีและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย จำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ต้องชำระภาษีกล่าวอีกนัยหนึ่งคือหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจะเกิดขึ้นเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำขอรับชำระหนี้สำหรับภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2531 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…”
พิพากษายืน.

Share