คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤติในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกและต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี รอการลงโทษ 2 ปี รายงานตัว 3 เดือนต่อครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 20 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่ครบกำหนด และจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น และอยู่ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยกคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณา โจทก์เพิ่งยกข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว เมื่อมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้น ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ดังนี้การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน และย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91, 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและเพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91, 97 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 6 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น ยังไม่ถึงที่สุดเพราะคดีดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติของศาล ศาลชั้นต้นยังมีอำนาจที่จะหยิบยกคดีดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เปลี่ยนจากที่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้เป็นให้จำคุกโดยไม่รอการลงโทษในกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติหรือกระทำผิดเงื่อนไขในการคุมความประพฤติได้ และจำเลยยังสามารถอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นได้ กรณีต้องถือว่าจำเลยยังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤติในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกและต้องคำพิพากษาให้จำคุก โดยจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี รอการลงโทษ 2 ปี รายงานตัว 3 เดือนต่อครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 20 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่ครบกำหนด และจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้น และอยู่ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยกคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณา โจทก์เพิ่งยกข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว เมื่อมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด และข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2860/2554 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้น ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ดังนี้การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน และย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share