แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 ขอถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216
ในการพิจารณาถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ที่ 1 ขณะที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ย่อมต้องถือเอาข้อความในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นหลักฐาน เมื่อหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทของโจทก์ที่ 1 ระบุว่าโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 แทนโจทก์ที่ 1 และมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 จะกลับมาขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่
การที่โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ในคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ที่ 1 ผลดีหรือผลเสียดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกัน จะถือว่าประโยชน์ได้เสียของโจทก์ที่ 1 ขัดกับประโยชน์ได้เสียของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 74 หาได้ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 267, 268, 352 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ระหวางพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 ขอถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งประทับฟ้อง โจทก์ที่1 จึงไม่ต้องขอถอนฟ้อง อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนอุทธรณ์ จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 ออกจากสารบบความ
โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวิจิฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 ขอถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ตามประกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2 คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 ถอนอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันโจทก์ที่ 1 ขณะที่โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ย่อมต้องถือเอาข้อความในหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นหลักฐานเมื่อหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเอกสารท้ายคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ระบุว่าโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราของโจทก์ที่ 1 มีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 แทนโจทก์ที่ 1 และมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 จะกลับมาขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดต่อโจทก์ที่ 1 แล้วมาขอถอนอุทธรณ์ในฐานะของผู้แทนโจทก์ที่ 1 เป็นการกระทำที่ขัดกับประโยชน์ได้เสียของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่สามารถกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 ได้ นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ในคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ที่ 1 ผลดีหรือผลเสียดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกัน จะถือว่าประโยชน์ได้เสียของโจทก์ที่ 1 ขัดกับประโยชน์ได้เสียของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 หาได้ไม่ และที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทท้ายคำร้องขอถอนอุทธรณ์ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ถอนอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนและยกฎีกาของโจทก์ที่ 2