คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6413/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1และที่2ฎีกาทั้งสองสำนวนว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่2แต่เพียงฝ่ายเดียวและค่าเสียหายสูงเกินความจริงล้วนเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและในการกำหนดค่าเสียหายจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อสำนวนแรกมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง สำหรับสำนวนหลังแม้จำเลยที่1และที่2จะร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นคดีเดียวกันให้ชำระหนี้รวมเป็นเงิน208,801.55บาทก็ตามแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เรียกร้องให้โจทก์ทั้งสามรับผิดต่อจำเลยที่1และที่2เป็นหนี้แบ่งแยกได้การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีจึงต้องคิดทุนทรัพย์ตามฟ้องของจำเลยที่1และที่2แยกต่างหากจากกันคดีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของจำเลยที่1และที่2แม้ว่าคดีในส่วนของจำเลยที่2ซึ่งมีทุนทรัพย์165,801.55บาทจะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่2ก็ไม่อาจฎีกาในข้อเท็จจริงได้เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่1ซึ่งมีทุนทรัพย์เพียง43,000บาทเมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคหนึ่งการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่1และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ย่อมเป็นการไม่ชอบเมื่อจำเลยที่1ฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมาก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษารวมกันและให้เรียกบริษัทไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด ว่าโจทก์ที่ 1 นาย ซ้อน พันธุ์เจริญหรือพันธ์เจริญ ว่า โจทก์ ที่ 2 นาย สัญชัย เจตลิกทัตว่า โจทก์ ที่ 3 นาย ใช้ เจียมจรัสรังสีว่า จำเลย ที่ 1 และ บริษัท พิพัทธ์ประกันภัย จำกัด ว่า จำเลย ที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1เป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกตู้ห้องเห็นหมายเลขทะเบียน80 – 4352 ประจวบคีรีขันธ์ ไว้จากโจทก์ที่ 3 เมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2531 โจทก์ที่ 2 ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนเพชรเกษมจากอำเภอทับสะแก ไปทางอำเภอบางสะพาน ขณะเดียวกันนายยงค์ พูลสวัสดิ์ ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 3060ประจวบคีรีขันธ์ ในทางการที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลยที่ 1สวนทางรถที่โจทก์ที่ 2 ขับ นายยงค์ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถที่นายยงค์ขับเฉี่ยวชนรถที่โจทก์ที่ 2 ขับได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน 147,103 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 147,103 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ผู้เอาประกันภัยและผู้ซ่อมรถแล้ว ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยโจทก์ที่ 1 ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,678 บาทรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 150,781 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 150,781 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 147,103 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ผู้ขับรถหมายเลขทะเบียน 80 – 3060 ประจวบคีรีขันธ์ มิใช่ลูกจ้างขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถหมายเลขทะเบียน 80 – 8352 ประจวบคีรีขันธ์ ฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดและค่าเสียหายสูงเกินกว่าความเป็นจริงทั้งมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ไม่เกิน 100,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.3 ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลยและแก้ไขคำฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครองครองรถหมายเลขทะเบียน 80 -3060 ประจวบคีรีขันธ์ และจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 6มิถุนายน 2531 โจทก์ที่ 2 ลูกจ้างของโจทก์ที่ 3 ขับรถหมายเลขทะเบียน 80 – 4352 ประจวบคีรีขันธ์ ในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 3ด้วยความเร็วสูงและประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถหมายเลขทะเบียน 80 – 3060 ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งโจทก์ที่ 1รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จ่ายค่าซ่อมรถแทนไป 154,234 ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,567.55 รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 165, 801.55 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหาย รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน43,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 43,000 แก่จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 165,801.55 บาท แก่จำเลยที่ 2พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียในรถหมายเลขทะเบียน 80 – 3060 ประจวบคีรีขันธ์จึงไม่มีสิทธินำรถดังกล่าวไปประกันภัย จำเลยที่ 2 ไม่อาจรับช่วงสิทธิได้ โจทก์ที่ 3 ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนขันรถหมายเลขทะเบียน 80 – 4352 ประจวบคีรีขันธ์ในทางการที่จ้างหรือในกิจการของโจทก์ที่ 3 และเหตุเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถหมายเลขทะเบียน 80 – 3060ประจวบคีรีขันธ์ ฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์สำนวนแรกยื่นคำร้องขอถอนฟ้องบริษัทจุติพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชำระเงิน 147,103 บาท แก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงิน 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยจำเลยที่ 1 คิดจากต้นเงิน 147,103บาท ส่วนจำเลยที่ 2 คิดจากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่3 กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 อุทธรณ์ ทั้ง สอง สำนวน
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกา ทั้ง สอง สำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวนว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวและค่าเสียหายสูงเกินความจริง เพราะโจทก์ที่ 1ยังไม่ได้คิดหักค่าโอนขายตู้ห้องเย็น ล้วนเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและในการกำหนดค่าเสียหาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีสำนวนแรกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 147,103 บาทให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดในวงเงิน 100,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าจะได้ชำระเสร็จ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 สำหรับคดีสำนวนแรกจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับสำนวนหลัง ตามคำฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าซ่อมรถแทนจำเลยที่ 1 แล้วรับช่วงสิทธิมาฟ้องขอให้โจทก์ทั้งสามรับผิดในค่าซ่อมรถพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 165,801.55 บาทส่วนจำเลยที่ 3 ฟ้องขอให้โจทก์ทั้งสามรับผิดชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถและค่าเสื่อมราคาพร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 43,000บาท ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสามเป็นคดีเดียวกันให้ชำระหนี้รวมเป็นเงิน 208,801.55 บาทก็ตาม แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เรียกร้องให้โจทก์ทั้งสามรับผิดต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้ที่แบ่งแยกได้ดังนั้น การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทให้คดีจึงต้องคิดทุนทรัพย์ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แยกต่างหากจากกัน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้ว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทุนทรัพย์ 165,801.55 บาท จะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันชั้นอุทธรณ์เกิน 50,000 บาท ก็ตามแต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ก็ฎีกาไม่ได้ เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกันสำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีทุนทรัพย์เพียง 43,000 บาทเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมา ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน อนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์สำหรับสำนวนแรกเกินมาเป็นเงิน 65 บาท สมควรคืนให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ด้วย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์สำหรับสำนวนแรกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 65 บาท

Share