คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 641/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(จ) อนุมาตรา 1-2 +ได้ซึ่งได้รับจากการเช่าตึกเรือนโรงของผู้อื่นแล้วให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อไปอันมีจำนวนเกิน 2,000 บาทจะต้องรับ+เสียภาษีเงินได้ด้วย เงินได้ดังกล่าวข้างต้นนั้นจะต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้แต่ฉะเพาะจำนวนที่หักเงินค่าเช่าที่ต้องชำระ+เจ้าของตึกเรือนโรง+เสียก่อน+

ย่อยาว

คดีได้ความว่าโจทก์ได้รับเหมาเช่าตึกเรือนโรงมาจากเจ้าของผู้หนึ่ง และเอาไปให้เช่าช่วงอีกต่อหนึ่ง ในการเช่าช่วงได้ค่าเช่ารวมเป็นเงิน ๕๖,๓๕๙ บาท ๗๗ สตางค์ โจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าของตึกเรือนโรง ๓๗,๓๙๒ บาท ๕๐ สตางค์รายได้อันแท้จริงของโจทก์เป็นเงินเพียง ๑๘,๙๖๗ บาท ๒๗ สตางค์ จำเลยได้ประเมินเก็บภาษีเสริมไปจากโจทก์เป็นเงิน ๑๓๓๖ บาท ๖๕ สตางค์ โดยไม่อนุญาตให้โจทก์หักเงิน ๓๗,๓๙๒ บาท ๕๐ สตางค์ออกเสียก่อน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลว่ารายได้ของโจทก์ประเภทที่รับเหมามาให้เช่าช่วงเป็นรายได้ที่ไม่เข้าอยู่ในมาตราใดแห่ง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ และถ้าจะถือว่ารายได้ของโจทก์ในประเภทข้างบนนั้นเข้าอยู่ในมาตรา ๗(จ) แล้วต้องให้โจทก์หักเงิน ๓๗,๓๙๒ บาท ๕๐ สตางค์เสียก่อน และคงคิดเอาจากจำนวน ๑๘,๙๖๗ บาท ๒๗ สตางค์ที่โจทก์ได้รับเป็นค่าเช่าอันแท้จริงเท่านั้น จึงขอให้ศาลคืนเงินค่าภาษีทั้งหมดหรือที่ได้เก็บเกินไปตามนัยข้างบนนั้นให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันว่าในเรื่องนี้ โจทก์ได้รับเงินรายได้รายพิพาทนี้เนื่องมาจากการให้เช่าช่วง ฉะนั้นย่อมเข้าอยู่ในความหมายแห่ง ม.๗(จ) ข้างต้นนั้น ทั้งนี้ไม่มีกฎหมายบทใดในพ.ร.บ.ภาษีเงินได้บังคับว่าเงินทีจะต้องเสียภาษีนั้นต้องฉะเพาะแต่เป็นเงินที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับในการให้เช่า เงินใดที่ผู้ใดได้รับในฐานะเป็นผู้ให้เช่าแล้วต้องเสียภาษีทั้งสิ้น กรณีนี้โจทก์มีฐานะเป็นผู้เช่าช่วงอย่างบริบรูณ์ ส่วนในข้อที่ว่าควรจะหักเงินที่จะต้องส่งให้แก่เจ้าของตึกเรือนโรงเสียก่อนหรือไม่นั้นเห็นว่าตามมาตรา ๗(จ) อนุมาตรา ๑ จะหักได้ฉะเพาะเงินค่าเช่าที่ดินที่ต้องจ่าย และคดีนี้จำเลยก็ได้หักเงินค่าเช่าที่ดินที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่เจ้าของตึกเรือนโรงแล้ว และไม่มีบทใดใน พ.ร.บ.ว่าให้เก็บฉะเพาะกำไรที่โจกท์ได้รับเท่านั้นเพราะ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ไม่ใช่เป็น พ.ร.บ.เก็บภาษีจากผลกำไร ฉะนั้นรายได้จำนวนใดจะต้องหักเสียก่อนต้องเสียภาษีนั้นก็หักได้แต่ฉะเพาะที่มาตรา ๗ ได้กำหนดไว้เห็นว่าจำเลยปฏิบัติชอบแล้วให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย
ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้ง ๒ ในข้อที่ว่าเงินที่โจทก์ได้รับมาในการให้เช่าช่วงนั้นเป็นเงินที่ได้รับมาในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๗ (จ) แห่งพ.ร.บ.ภาษีเงินได้มีประสงค์จะเก็บภาษีแก่ผู้ได้รับเงินค่าเช่าทั้งหลาย ส่วนในข้อที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักเงินทีต้องชำระแก่เจ้าของตึกเรือนโรงเสียก่อนหรือไม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นทั้ง ๒ เพราะตามมาตรา ๗(จ) คำว่าเงินที่ได้รับต้องแปลว่าเงินที่ได้รับเป็นรายได้อันแท้จริงจึงเรียกว่าเป็นเงินได้ และต้องระลึกว่าเงิน ๓๗,๓๙๒ บาท ๕๐ สตางค์นั้น ไม่จำต้องตกถึงมือโจทก์เสมอไป เพราะประมวลแพ่ง ฯ มาตรา ๕๔๕ ก็บัญญัติไว้ว่าผู้เช่าช่วงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าโดยตรง อนึ่งตาม ม.๗(จ) อนุมาตรา ๒ จะเห็นว่า เงินค่าเช่าซึ่งโจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้ให้เช่านั้นเป็นภาระชนิดหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิจะหักเงินค่าเช่าเดิมซึ่งเป็นภาระออกเสียก่อน มิฉะนั้นหากว่ามีการให้เช่าช่วงเรื่อย ๆ ไปจำนวนเงินค่าเช่าเดิมอาจต้องเสียภาษีเงินได้หลายครั้งหลายหน ซึ่งมิใช่เป็นความประสงค์ของ พ.ร.บ.นี้ จึงพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิหักเงินค่าเช่าเดิมจากเงินค่าเช่าช่วงให้จำเลยคืนเงินภาษีที่เก็บเกินไปนั้นให้โจทก์ตามฟ้อง

Share