แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีใดแล้ว คู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่ถูกจำกัดสิทธิ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย และการพิจารณาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องเป็นไปดังที่บัญญัติไว้ในภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์การที่โจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดต่อ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษเท่านั้น ส่วนความผิด ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจ ในการกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย่อมเป็นอันยุติ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จะก้าวล่วงไป วินิจฉัยกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดที่ยุติไปแล้วนั้น ให้เบาลงมิได้ เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสองการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาทฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี และปรับ5,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 35,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี และปรับ 17,500 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษโดยขอให้ลงโทษสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองให้ปรับ 60 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 30 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลักการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีใดแล้วคู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น คู่ความฝ่ายนั้นย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่ถูกจำกัดสิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมาย และการพิจารณาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องเป็นไปดังที่บัญญัติไว้ในภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษเท่านั้นส่วนจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ย่อมเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะก้าวล่วงไปวินิจฉัยกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดที่ยุติไปแล้วนั้นมิได้ ทั้งกรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในกรณีเช่นนี้
นอกจากนี้ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังวินิจฉัยเสียอีกว่าส่วนความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยก่อนลดจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาทนั้นสูงเกินไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมีกระสุนปืนลูกซองเพียง 1 นัด จึงเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ โดยที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2เฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2