คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 639/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารสัญญาจ้างข้อ 14 ระบุว่า “ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาถ้า…ผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง…ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว… สัญญาข้อนี้เป็นเพียงการกำหนดให้สิทธิแก่จำเลยร่วมที่จะเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายแก่จำเลย จ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยได้หากว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ เพื่อให้งานก่อสร้างของจำเลยร่วมสำเร็จลุล่วงไปโดยเรียบร้อย มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาข้อนี้ จำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์จะอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวบังคับให้จำเลยร่วมชำระค่าจ้างแก่โจทก์หาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามสิบสี่คนเข้าทำงานก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสามเสนใน โดยจำเลยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวนตามบัญชีท้ายฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ส่งมอบงานให้การสื่อสารฯ แล้วการสื่อสารฯ ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างงวดที่ 7, 8 จำนวน 1,115,858 บาทให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้รับค่าจ้างจากจำเลย ตามสัญญาจ้างระหว่างการสื่อสารฯ กับจำเลยข้อ 14 ให้อำนาจโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าจ้างจากการสื่อสารโดยตรง จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกการสื่อสารฯ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์กับจำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันจำเลยร่วมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์หรือไม่อยู่ในดุลพินิจของจำเลยร่วมและจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้อง การรับเงินค่าจ้างทั้งหมดตามสัญญาให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างจากจำเลยร่วม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลย และจำเลยร่วมชำระเงินให้โจทก์ทั้งสามสิบสี่คนตามฟ้อง
จำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างงานก่อสร้างต่อเติมและปรับปรุงอาคารที่ทำการไปรณีย์โทรเลขสามเสนใน ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งข้อ14 ระบุว่า “ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของตนตามอัตราค่าจ้างและกำหนดเวลาที่ผู้รับจ้างและลูกจ้างได้ตกลงหรือสัญญากันไว้
ถ้าผู้รับจ้างไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคหนึ่งผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเอาเงินค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างของผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนี้เป็นเงินค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับไปจากผู้ว่าจ้างแล้ว ฯลฯ …ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยร่วมไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยร่วมจึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน เพราะฉะนั้นจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ส่วนสัญญาจ้างงานก่อสร้างฯ ข้อ 14 นั้น เห็นว่าเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อให้โจทก์ ส่วนสัญญาจ้างงานก่อสร้างฯ ข้อ 14 นั้นเห็นว่าเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อให้งานก่อสร้างของจำเลยสำเร็จลุล่วงไปได้โดยเรียบร้อย ใช้บังคับกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสอง เป็นเพียงการกำหนดให้สิทธิแก่จำเลยร่วมที่จะเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยร่วมจะต้องจ่ายให้แก่จำเลย จ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างของจำเลยได้หากว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ โดยจำเลยยินยอมให้ถือว่าเงินจำนวนที่จ่ายไปนั้น เป็นเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับไปจากจำเลยร่วมเท่านั้น มิใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยร่วมที่จะต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์จะอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวบังคับให้จำเลยร่วมชำระค่าจ้างแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”.

Share