แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการ 7 นาย ไม่ได้กล่าวว่าต้องนั่งพิจารณาครบ 7 คนทุกครั้งอนุญาโตตุลาการขาดไปครั้งละ 2-3 คน โดยไม่ปรากฏว่าอนุญาโตตุลาการที่มาเจตนาไม่ให้อนุญาตโตตุลาการคนอื่นได้นั่งพิจารณาด้วยไม่เรียกว่าอนุญาโตตุลาการทำการโดยไม่สุจริตจะถือเป็นเหตุอุทธรณ์คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทอินโดไชนิสไดรี่ จำกัด จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลและจัดกิจการของบริษัท โจทก์ได้ส่งนมให้แก่บริษัทอินโดไชนิสไดรี่ จำกัด โดยคำสั่งของจำเลยหลายคราวด้วยกันคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 23,000 บาท โจทก์ได้ทวงให้จำเลยชำระเงินรายนี้ แต่จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา โจทก์ได้ร้องต่อสถานทูตอินเดีย กรุงเทพฯ ขอให้จัดการเรียกหนี้รายนี้จากจำเลย ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2491 โจทก์จำเลยตกลงกันต่อหน้าทูตอินเดียตั้งอนุญาโตตุลาการ 7 นายเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีของโจทก์จำเลยอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้วได้ชี้ขาดตัดสินให้จำเลยชำระเงิน23,000 บาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 23,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ส่งนมให้แก่บริษัทอินโดไชนิสไดรี่ จำกัด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลยเพราะโจทก์จำเลยไม่ได้เป็นคู่นิติสัมพันธ์กันในมูลหนี้รายนี้ แม้โจทก์จะได้ขายนมให้กับบริษัทฯ โจทก์ก็ควรไปฟ้องเอากับบริษัทฯ จำเลยต่อสู้อีกว่าจำเลยไม่เคยตกลงยินยอมตั้งอนุญาโตตุลาการต่อหน้าทูตอินเดีย ณ สถานทูตอินเดีย แต่โจทก์จำเลยเคยยินยอมกันครั้งหนึ่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายนมระหว่างโจทก์กับบริษัทอินโดไชนิสไดรี่ จำกัด ข้อตกลงกันนี้ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ส่วนเอกสารตั้งอนุญาโตตุลาการดังสำเนาท้ายฟ้อง โจทก์ทำปลอมขึ้น และจำเลยปฏิเสธว่า อนุญาโตตุลาการจะได้พิจารณาข้อพิพาทตามคำชี้ขาดที่โจทก์อ้างหรือไม่ จำเลยไม่ทราบหากอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดไป คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ขัดต่อกฎหมาย เพราะอนุญาโตตุลาการมิได้ทำการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามคำยินยอมของโจทก์จำเลย คือไม่ได้ชี้ขาดตามประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์กับบริษัทอินโดไชนิสไดรี่ จำกัด ก่อนจะทำคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการไม่ได้ฟังคู่พิพาท ไม่ได้ทำการพิจารณาไต่สวน ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ฟังว่าจำเลยทั้งสามได้ตั้งอนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดข้อพิพาทเรื่องค่านมระหว่างโจทก์กับจำเลยตามคำฟ้องโจทก์และตามเอกสารก็ปรากฏชัดว่าได้ยินยอมตกลงต่อหน้าทูตอินเดีย ณ สถานทูตอินเดีย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสามได้ยักยอกเงิน 78,000 บาท ของบริษัทฯ ในขณะที่บริษัทฯ ล้มละลายให้พวกจำเลยชำระเงิน 78,000 บาท ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ในจำนวนนี้โจทก์ควรจะได้รับ 23,000 บาท ซึ่งบริษัทค้างชำระอยู่ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนี้ไม่ขัดกฎหมายพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 23,000 บาท ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แก่โจทก์ และให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับให้เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนายความ 800 บาทแทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายแทนโจทก์ 200 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย และตรวจปรึกษาสำนวนนี้แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นสมาชิกในสมาคมขายนม ต่อมาจำเลยที่ 1, 2 กับพวกจีน ได้ร่วมคิดกันก่อตั้งบริษัทอินโดไชนิสไดรี่ จำกัดขึ้น โจทก์เอานมมาส่งให้สมาคม สมาคมขายนมให้แก่บริษัท ผลที่สุดโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันตั้งอนุญาโตตุลาการ 7 คน ให้ชำระกรณีซึ่งโจทก์อ้างว่ายังไม่ได้รับเงินค่านมอีก 23,000 บาท กรรมการไต่สวนแล้ว ชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1, 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของบริษัท จำเลยได้เอาทรัพย์สินของบริษัทไปเป็นราคา 78,000 บาท และรับรองว่าจะใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัท แต่จำเลยก็ไม่ใช้โจทก์เป็นเจ้าหนี้อยู่ 23,000 บาท จึงชี้ขาดให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์
ตามข้อเท็จจริงดังนี้เห็นว่า ในกรณีที่คู่ความเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดคดีของตนนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222 ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ นอกจากเหตุซึ่งท่านบัญญัติไว้ในมาตรานั้น จำเลยจึงฎีกาโต้แย้งว่า
1. อนุญาโตตุลาการมิได้กระทำการโดยสุจริต กล่าวคือ ในการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนั้นบางครั้งอนุญาโตตุลาการนั่งไม่ครบ 7 คน บางครั้งไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลย ไม่ได้ให้โจทก์จำเลยซักถามพยาน พยานบางคนไปอยู่ต่างประเทศบางคนลงลายมือชื่อไม่ได้ ให้คนอื่นลงแทน อนุญาโตตุลาการบางคนเซ็นชื่อภายหลังตั้ง 20 วัน ซ้ำไม่ได้อ่านข้อความ เป็นแต่ทราบว่าให้บริษัทใช้เงินเท่านั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์หลักฐานคำพยานในข้อนี้แล้ว เห็นว่าตามหนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการมีข้อความว่า “ฯลฯ ให้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินชี้ขาดเจ็ดนายตามรายนามข้างท้ายนี้เป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีของพวกข้าพเจ้า ฯลฯ” หาได้กล่าวว่าในการพิจารณาแต่ละครั้งอนุญาโตตุลาการต้องนั่งให้ครบคณะทั้ง 7 คนไม่ และการที่อนุญาโตตุลาการขาดไปครั้งละ 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง ก็ไม่ปรากฏในท้องสำนวนว่าเป็นความประสงค์ของอนุญาโตตุลาการที่มา เจตนาจะมิให้อนุญาโตตุลาการคนอื่นได้นั่งพิจารณาด้วย ฟังไม่ได้ว่าอนุญาโตตุลาการมิได้กระทำการโดยสุจริตในข้อนี้ ส่วนที่ว่าพยานบางคนไปต่างประเทศก็ไม่ปรากฏในท้องสำนวนว่าพยานคนนั้นคือใคร ส่วนที่ให้คนอื่นลงชื่อแทนพยานก็ปรากฏว่าพยานที่มาให้การนั้นเขียนชื่อตนเองไม่เป็น จึงให้ผู้อื่นเขียนชื่อพยานลงไป แทนที่จะให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่พอจะถือว่าอนุญาโตตุลาการมิได้กระทำการโดยสุจริตในข้อนี้ ส่วนข้อที่ว่าอนุญาโตตุลาการลงนามในคำชี้ขาดโดยไม่ทราบข้อความนั้น เป็นการเถียงฝืนข้อเท็จจริง ฟังไม่ขึ้น ข้อที่ว่าอนุญาโตตุลาการบางคนเซ็นชื่อในคำชี้ขาดภายหลังวันที่ลงในคำชี้ขาดนั้น เมื่อเท็จจริงฟังว่าอนุญาโตตุลาการได้ทราบคำชี้ขาดแล้วได้ลงชื่อให้ ก็ถือไม่ได้ว่ามิได้กระทำการโดยสุจริตเช่นเดียวกัน
2. ฝ่ายโจทก์ใช้กลฉ้อฉล กล่าวคือ หนังสือแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นมิได้กระทำกัน ณ สถานทูตอินเดีย และความจริงบริษัทเป็นลูกหนี้ มิใช่จำเลยนั้นข้อนี้ตามหลักฐานคำพยานฟังได้ว่าการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้กระทำกันณ สถานทูตอินเดีย และตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนั้น บริษัทมิได้ซื้อนมโดยตรงจากโจทก์ หนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการก็ไม่พาดพิงถึงบริษัท เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ฟังไม่ขึ้น
3. คำพิพากษาของศาลฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลนี้ได้พิเคราะห์คำพิพากษาของศาลและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตลอดแล้วเห็นว่าศาลได้พิพากษาตรงตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ และคำพิพากษาของศาลก็มิได้ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังจำเลยฎีกามา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
คงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย ให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นศาลนี้แทนโจทก์อีก 500 บาท