แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของ ร. ตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง ร. และโจทก์ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาจดทะเบียนสมรสของนายราตรี จารุสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2487 ระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยามีทรัพย์สินเป็นสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 40 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแถวรวม 9 ห้อง และมีสินสมรสอื่นอีกหลายรายการ วันที่ 19 มกราคม 2505 โจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนหย่ากัน และวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2505 โจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนสมรสกันใหม่ จากนั้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2518 โจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนหย่ากันอีก โดยยังไม่ได้ตกลงแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 40 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่นายราตรีให้โจทก์เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและแทนนายราตรี โจทก์จึงนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่าจนถึงปัจจุบัน วันที่ 18 มกราคม 2543 นายราตรีถึงแก่ความตาย เมื่อต้นปี 2546 โจทก์ต้องการจะแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนายราตรีร่วมกันแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 40 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสกันแล้ว โดยตามบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนหย่าในข้อ 2.9 ว่า ทรัพย์สินอื่นๆ นอกจากที่ระบุไว้ในบันทึกทะเบียนการหย่า เว้นแต่อสังหาริมทรัพย์ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนอสังหาริมทรัพย์อื่นทั้งหมดที่ไม่ได้ระบุในทะเบียนหย่ารวมถึงที่ดินพิพาทมีชื่อของนายราตรีให้ตกเป็นของนายราตรีแต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทได้ ก่อนถึงแก่ความตายนายราตรีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินและทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 คนเดียว จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลจังหวัดพิษณุโลกแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับครอบครัวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 11 (3)
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ทนายโจทก์ ทนายจำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่าโจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกต่อท้ายทะเบียนหย่า ฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2518 ไว้ นอกจากนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 แถลงรับกันว่า นายราตรีทำพินัยกรรมไว้ก่อนถึงแก่กรรม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทไม่ใช่สินสมรส พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า เดิมโจทก์กับนายราตรี จารุสวัสดิ์ จดทะเบียนสมรสกัน และจดทะเบียนการหย่าครั้งแรกวันที่ 29 มกราคม 2505 ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2505 โจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนสมรสกันใหม่ จากนั้นวันที่ 29 เมษายน 2518 โจทก์กับนายราตรีจดทะเบียนการหย่าครั้งสุดท้าย โดยการจดทะเบียนการหย่าครั้งสุดท้าย โดยการจดทะเบียนการหย่าครั้งนี้โจทก์กับนายราตรีได้ทำบันทึกแบ่งแยกทรพัย์สินไว้ท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.11
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์กับนายราตรีตกลงแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 40 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ในบันทึกแบ่งทรัพย์สินไว้ท้ายทะเบียนการหย่าหรือไม่ เห็นว่า เจตนาของคู่สัญญาทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินกันไว้ท้ายทะเบียนการหย่าย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินที่มีอยู่ร่วมกันทั้งหมดให้เสร็จสิ้นไป ดังนั้น การตีความในบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.11 จึงต้องตีความตามข้อความที่ระบุไว้ในบันทึกนั้น เว้นแต่จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าข้อความที่ปรากฏในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวมีข้อความไม่ชัดเจน คลุมเครือหรืออ่านไม่เข้าใจ ตามบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าวันที่ 29 เมษายน 2518 ตั้งแต่ข้อ 2.1 ถึง 2.8 โจทก์กับนายราตรีได้ตกลงแบ่งแยกทรัพย์สิน ที่ดิน อาคาร กิจการ หนี้สินรวมถึงการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินกันไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว และข้อ 2.9 ระบุว่า “ทรัพย์สินอื่นๆ นอกจากที่ได้ระบุแบ่งไว้ในบันทึกทะเบียนการหย่านี้เว้นแต่อสังหาริมทรัพย์ ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางรัตนา จารุสวัสดิ์ แต่ผู้เดียว ส่วนรถยนต์โฟล์คสวาเก้น จำนวน 1 คัน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายราตรี จารุสวัสดิ์” ซึ่งข้อความในบันทึกดังกล่าวมีข้อความชัดแจ้งอ่านแล้วเข้าใจได้ว่าทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ยกเว้นรถยนต์โฟล์คสวาเก้น 1 คัน ที่นายราตรีและโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกัน นอกจากที่ได้ระบุไว้ในบันทึกทะเบียนการหย่านี้ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหมด ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ระบุไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.11 นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุไว้ชัดเจนในบันทึกฉบับดังกล่าวซึ่งหมายถึงทรัพย์สินพิพาทให้ตกเป็นของนายราตรี บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนกายหย่าที่ดินโฉนดเลขที่ 40 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของนายราตรีตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายราตรีและโจทก์ ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.