คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6387/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 254,257 และ 263 แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มิได้มีคำวินิจฉัยในข้อนี้ รวมทั้งมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวและโจทก์ก็มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ ประกอบกับโจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบฯ มาตรา 43 ประกอบมาตรา 53 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเฉพาะมาด้วย และศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ลงโทษจำเลยตามกฎหมายดังกล่าวแล้วถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 254,257 และ 263 อันเป็นบททั่วไปตามคำขอท้ายคำฟ้องอีก
เครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบตามคำฟ้องโจทก์ อันถือว่าเป็นแสตมป์ยาสูบตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบฯ นั้นมีผู้อื่นทำปลอมขึ้นและได้ถูกนำมาใช้ปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบของกลางแต่ละซองแล้ว โดยจำเลยมียาสูบของกลางแต่ละซองดังกล่าวไว้เพื่อขาย ซึ่งในการขายยาสูบแต่ละซองนั้นแม้จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมดวงนั้น ๆ ไว้เพื่อขายตามความหมายในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบฯ เพราะมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้เท่านั้น หาได้ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่มียาสูบซึ่งมีผู้อื่นทำปลอมแสตมป์ยาสูบขึ้น แล้วนำมาปิดแสดงอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายตามพระราชบัญญัติยาสูบฯ มาตรา 43 ประกอบมาตรา 53 มานั้นจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง,195 วรรคสองและ 215

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตจำนวน 4,500 ซอง ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมคือเครื่องหมายการค้า “KRONG THIP 90 กรองทิพย์ 90″ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผู้เสียหาย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งเครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง กำหนดลักษณะและชนิดของเครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบพ.ศ. 2541 (ฉบับที่ 26) อันเป็นแสตมป์ยาสูบตามบทนิยามของกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ซึ่งมีผู้ทำปลอมขึ้นและแสดงอ้างอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวในข้อ (ก) จำนวน4,500 ดวง ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอม จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่มีตรากรองทิพย์ 90 ขนาดบรรจุซองละ 20 มวนจำนวน 4,500 ซอง อันเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ โดยยาสูบดังกล่าวจะต้องปิดแสตมป์ยาสูบตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด รวมมูลค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดทั้งสิ้นเป็นเงิน 112,612.50 บาท เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยยาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตตรากรองทิพย์ 90 ที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และมีแสตมป์ยาสูบปลอมอ้างแสดงอยู่บนซอง ซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 110(1),115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 254, 257, 263 พระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ. 2509 มาตรา 4, 5, 23, 24, 41, 43, 44, 50, 53 ริบของกลางให้เป็นของกรมสรรพสามิต

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง, 43, 50, 53การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมจำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ฐานมีไว้ในครอบครอง(เพื่อขาย) ซึ่งเครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบ (ปลอม) จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบปรับ 1,689,187.50บาท รวมโทษเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 1,891,187.50 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน และปรับ 945,593.75 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30ริบของกลางให้เป็นของกรมสรรพสามิต

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”สำหรับความผิดเกี่ยวกับดวงตราแสตมป์และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 254, 257 และ 263 ซึ่งโจทก์มีคำขอมาท้ายคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยด้วยนั้นปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยในข้อนี้รวมทั้งมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวตามที่โจทก์ขอ แต่โจทก์มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ ประกอบกับโจทก์ได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 53 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเฉพาะมาด้วย และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ศาลฎีกาพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 254, 257 และ 263 อันเป็นบททั่วไปตามคำขอท้ายคำฟ้องอีก ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิดค้าขายสินค้าที่ผิดกฎหมายตามฟ้อง เพราะจำเลยเข้าใจว่ายาสูบของกลางเป็นสินค้าที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะมาอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกมิได้เพราะขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้

ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมา ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบานั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ข)เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่พิเคราะห์แล้วมาตรา 53 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ยาสูบปลอมหรือใช้แล้วปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เครื่องหมายอย่างอื่นที่ใช้แทนแสตมป์ยาสูบตามคำฟ้องข้อ (ข) อันถือว่าเป็นแสตมป์ยาสูบตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 นั้นมีผู้อื่นทำปลอมขึ้นและได้ถูกนำมาใช้ปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบของกลางแต่ละซองแล้ว โดยจำเลยมียาสูบของกลางแต่ละซองดังกล่าวไว้เพื่อขาย ซึ่งในการขายยาสูบของกลางแต่ละซองนั้น แม้จะมีแสตมป์ยาสูบปิดอยู่บนซองบรรจุยาสูบด้วยก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะมีแสตมป์ยาสูบปลอมดวงนั้น ๆ ไว้เพื่อขายตามความหมายในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ. 2509 เพราะบทมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีแสตมป์ยาสูบปลอมไว้ในครอบครองเพื่อขายหรือเพื่อนำออกใช้เท่านั้น หาได้ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่มียาสูบซึ่งมีผู้อื่นทำปลอมแสตมป์ยาสูบขึ้นแล้วนำมาปิดแสดงอยู่บนซองยาสูบดังกล่าวไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานนี้เสียได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่งมาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 215 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงคงเหลือความผิดตามฟ้องข้อ (ก) และข้อ (ค) เท่านั้นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยให้เบาลงหรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามฟ้องข้อ (ค) นั้น พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 50 ได้บัญญัติโทษของผู้กระทำความผิดไว้ว่า ต้องระวางโทษปรับสิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องว่า ยาสูบของกลางจะต้องปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมายซองละ 25.025 บาท ยาสูบของกลางมีจำนวน 4,500 ซอง จึงต้องปิดแสตมป์ยาสูบคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 112,612.50 บาท ดังนั้น สิบห้าเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบของกลางจึงเท่ากับ 1,689,187.50 บาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยก่อนลดโทษสำหรับความผิดฐานนี้ให้ปรับ 1,689,187.50 บาท จึงเป็นการกำหนดโทษปรับตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจพิจารณาลงโทษปรับจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้ให้เบาลงได้อีก ส่วนความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามฟ้องข้อ (ก) นั้น เห็นว่า จำเลยมีสินค้ายาสูบของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายไว้เพื่อจำหน่ายจำนวน4,500 ซอง เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดโทษจำเลยก่อนลดโทษให้จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท มานั้นจึงหนักเกินไปศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่ความผิดของจำเลย ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้งดลงโทษปรับจำเลยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียวให้เบาลงอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ จึงรวมเป็นจำคุก 6 เดือน และปรับ 1,689,187.50 บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 844,593.75บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามเดิมและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งแสตมป์ยาสูบปลอมเพื่อขายตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share