คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6381/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่านิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศนั้นต้องมีภูมิลำเนาหรือประกอบกิจการในประเทศไทย เมื่อโจทก์เป็นผู้ขนส่งและเป็นเจ้าของตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากผู้ขายที่สาธารณรัฐเกาหลีมายังประเทศไทย โดยใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่ง และเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบซีวาย/ซีวาย ซึ่งหมายความว่า เมื่อสินค้าถึงท่าปลายทางจำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจรับสินค้าที่สถานที่ของตนแล้วนำตู้สินค้ามาคืนแก่ผู้ขนส่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อรับสินค้าแล้ว แต่ไม่นำต้นฉบับใบตราส่งไปเวนคืนหรือให้ประกันเพื่อรับมอบสินค้า ทำให้ตัวแทนโจทก์ไม่สามารถออกใบปล่อยสินค้าได้ เป็นเหตุให้ตู้สินค้าของโจทก์คงค้างที่ท่าเรือ โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในตู้สินค้าดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี โจทก์ประกอบกิจการรับขนของทางทะเล โดยมีบริษัทฮวง เอ ชิพปิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนในประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 โจทก์รับจองระวางเรือจากบริษัทเซกิ เทรดดิ้ง จำกัด ขนส่งสินค้าหลอดภาพโทรทัศน์จากท่าเรือเมืองอินชอนมาส่งให้จำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพในเงื่อนไขการขนส่งแบบซีวาย/ซีวาย โจทก์จัดส่งตู้สินค้าให้บริษัทเซกิ เทรดดิ้ง จำกัด บรรจุสินค้าเข้าตู้และออกใบตราส่งให้ผู้ส่งของเพื่อให้ส่งมอบแก่จำเลยเพื่อนำมาเวนคืนแก่โจทก์และรับมอบสินค้าที่ท่าเรือปลายทาง โดยใบตราส่งดังกล่าวระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า ค่าระวางขนส่งเก็บที่ปลายทางกรณีคืนตู้สินค้าล่าช้า โจทก์มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมการคืนตู้ล่าช้า โจทก์ขนส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพวันที่ 30 มิถุนายน 2548 และแจ้งให้จำเลยนำต้นฉบับใบตราส่งมาแลกใบปล่อยสินค้าและชำระค่าระวาง จำเลยไม่ยอมชำระค่าระวางขนส่งและค่าบริการ แต่กลับนำสำเนาใบตราส่งที่ตัวแทนโจทก์ออกให้ไปดำเนินพิธีการศุลกากร ทำให้โจทก์ไม่สามารถออกใบปล่อยสินค้าและเป็นเหตุให้ตู้สินค้าของโจทก์ที่บรรจุสินค้าของจำเลยตกค้างอยู่ที่ท่าเรือ โจทก์ได้แจ้งให้สำนักงานศุลกากรนำเข้าที่ท่าเรือกรุงเทพพิจารณายึดและขายทอดตลาดสินค้าของจำเลย แต่ได้รับแจ้งว่าจำเลยได้ดำเนินพิธีการศุลกากรแล้ว สินค้าดังกล่าวจึงมิใช่สินค้าตกค้างตามกฎหมายที่จะดำเนินการตามที่โจทก์ร้องขอได้ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยนำต้นฉบับใบตราส่งมารับสินค้า แต่จำเลยยังคงเพิกเฉย ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในตู้สินค้าได้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 486,039.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 422,720 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าเพื่อส่งมอบตู้สินค้าหมายเลข เอชเอแอลยู 5000365 คืนแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้จำเลยชำระเงินในอัตราวันละ 540 บาท จนกว่าจำเลยจะส่งมอบตู้สินค้าคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในต่างประเทศ โจทก์ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย จึงไม่อาจเป็นโจทก์ดำเนินคดีในศาลไทย บริษัทฮวง เอ ชิพปิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทย มีหน้าที่รับเงินค่าจองตู้และค่าระวาง รวมถึงรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าแก่จำเลย บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่โจทก์ จำเลยได้ชำระค่าระวางขนส่ง ค่าภาษีนำเข้า ค่าขนถ่ายและค่าใบปล่อยสินค้าให้แก่บริษัทพาราชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ด้วยเช็คแล้ว แต่บริษัทฮวง เอ ชิพปิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ระงับการออกใบปล่อยสินค้าและโจทก์ก็ยังไม่ได้ดำเนินการส่งต้นฉบับใบตราส่งให้แก่จำเลย จำเลยจึงอายัดเช็คดังกล่าว โจทก์ฟ้องเรียกค่าระว่าง ค่าขนส่ง และค่าเสียหายจากการรับขนของทางทะเลและไม่มีการส่งมอบสินค้านับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 40,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยดำเนินการส่งมอบตู้สินค้าหมายเลข เอชเอแอลยู 5000365 คืนแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายวัน วันละ 200 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2548 จนถึงวันก่อนวันที่จำเลยส่งมอบตู้สินค้าดังกล่าวคืนแก่โจทก์ แต่ค่าเสียหายรายวันนี้ให้มีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2548 และถ้าจำเลยไม่คืนหรือไม่สามารถคืนตู้พิพาทแก่โจทก์จนครบกำหนด 5 ปีแล้ว ก็ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากผลรวมสุทธิ 5 ปี ของค่าเสียหายเป็นรายวันดังกล่าว (โดยไม่คิดดอกเบี้ยทบต้น) คำนวณนับแต่วันที่ครบกำหนด 5 ปี เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ส่วนนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสำนักงานสาขาในประเทศไทย โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินคดีในศาลยุติธรรมไทยได้ เห็นว่า ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้จะต้องเป็นบุคคลดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) คำว่า “คู่ความ” หมายความว่าบุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ฯลฯ และคำว่า “บุคคล” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้จำกัดสิทธิว่านิติบุคคลตามกฎหมายของไทยเท่านั้นที่จะฟ้องคดีได้ นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศก็ฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่านิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศนั้นต้องมีภูมิลำเนาหรือประกอบกิจการในประเทศไทย เมื่อโจทก์เป็นผู้ขนส่งและเป็นเจ้าของตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากผู้ขายที่สาธารณรัฐเกาหลีมายังประเทศไทย โดยใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่ง และเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบซีวาย/ซีวาย ซึ่งหมายความว่าเมื่อสินค้าถึงท่าปลายทางจำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าไปเปิดตรวจรับสินค้าที่สถานที่ของตนแล้วนำตู้สินค้ามาคืนแก่ผู้ขนส่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อรับสินค้าแล้ว แต่ไม่นำต้นฉบับใบตราส่งไปเวนคืนหรือให้ประกันเพื่อรับมอบสินค้า ทำให้ตัวแทนโจทก์ไม่สามารถออกใบปล่อยสินค้าได้เป็นเหตุให้ตู้สินค้าของโจทก์คงค้างอยู่ที่ท่าเรือ โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในตู้สินค้าดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share