คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสองระบุให้อำนาจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการบังคับคดีศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนการบังคับคดีได้เองโดยไม่มีผู้ใดร้องขอ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์นำเข้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดมีนบุรียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา รวม 7 รายการ (บังคับคดีแทนศาลชั้นต้น) และผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของทรัพย์รายการที่ 1 ต่อมาโจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ผู้ร้องนำยึดไว้ก่อนแล้ว ศาลจังหวัดมีนบุรีอนุญาตเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดมีนบุรีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ทั้ง 7 รายการ โดยให้ขายติดจำนองเฉพาะทรัพย์รายการที่ 1 นางสาวจุฑามาศ ปานเจียมตัว เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาททั้ง 7 รายการ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ทั้ง 7 รายการเป็นการขายโดยติดจำนองรวมกันไป ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ซื้อทรัพย์รับโอนทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4โดยติดจำนองผู้ร้องเป็นเงิน 14,000,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะต้องปฏิบัติตามเฉพาะเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขที่ผู้ร้องอ้างมาไม่มีในประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลจึงไม่อาจกำหนดไว้ ส่วนผู้ร้องมีสิทธิอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวในคดีของผู้ร้องเอง ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวม 7 รายการโดยทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โจทก์ไม่มีสิทธิยึดเพราะไม่ได้จำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างอยู่ในทรัพย์รายการที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้ขอถอนการยึดทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ผู้ร้องนำยึดไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดมีนบุรีได้นำเอาทรัพย์ทั้ง 7รายการ ประกาศขายทอดตลาดมีเงื่อนไขให้ขายโดยติดจำนองเฉพาะรายการที่ 1 นางสาวจุฑามาศ ปานเจียมตัว เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 350,000 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยยื่นต่อศาลอุทธรณ์ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นผิดขั้นตอนของกฎหมายคือใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ส่วนการขายทอดตลาดทรัพย์รายการที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งถูกเพิกถอนการยึดไปแล้ว เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ เป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียจะไปว่ากล่าวเอาต่างหากผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องว่า ขอสละสิทธิไม่ติดใจซื้อทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ถูกถอนการยึด คงต้องการซื้อทรัพย์รายการที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ในราคา 350,000 บาทตามที่ประมูลซื้อได้เท่านั้น ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วขายทอดตลาดใหม่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่น่าจะมีส่วนได้เสียที่จะมีอำนาจร้องขอให้ศาลทำการขายทอดตลาดใหม่ได้การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ไปแล้ว ยกคำร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา คดีได้ถึงที่สุดแล้ว ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2537ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้ซื้อทรัพย์รับโอนทรัพย์โดยติดจำนองผู้ร้องเป็นเงิน 14,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่าศาลมีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดคดีนี้ทั้งหมดได้เองโดยไม่มีผู้ใดร้องขอได้หรือไม่และการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งนี้ผูกพันผู้ซื้อทรัพย์ให้ต้องรับโอนหนี้ผู้ร้องจำนวน 14,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยไปด้วยหรือไม่ สำหรับปัญหาแรก เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองระบุไว้ชัดว่าถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้วก็ให้อำนาจเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้นเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วทำการขายทอดตลาดใหม่โดยไม่ได้ระบุให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งได้เองโดยไม่มีผู้ใดร้องขอดังที่ผู้ร้องฎีกา ศาลจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ส่วนปัญหาที่ 2 นั้นได้ความว่าเงื่อนไขการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ระบุไว้ว่าให้ขายทรัพย์รายการที่ 1 ซึ่งเป็นที่ดินโดยติดจำนองเพียงรายการเดียว ส่วนทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ซึ่งจำนองไว้แก่ผู้ร้องไม่ได้ระบุว่าให้ขายโดยติดจำนองและศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการขายทอดตลาดทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ ซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์ดังกล่าวผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอสละสิทธิไม่ติดใจซื้อทรัพย์ส่วนที่จำนองไว้แก่ผู้ร้องแล้วผู้ร้องมีอำนาจที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ร้องอ้างว่าหากนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยไม่ได้ขายรวมกับทรัพย์รายการที่ 1จะทำให้ได้ราคาต่ำไม่เพียงพอแก่หนี้สินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระผู้ร้อง แม้จะเป็นความจริงก็เป็นความผิดของผู้ร้องเองที่ยอมรับเอาทรัพย์รายการที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นหลักประกันผู้ร้องไม่มีสิทธิเกี่ยงให้ผู้ซื้อทรัพย์รับโอนทรัพย์รายการที่ 1โดยติดจำนองผู้ร้องจำนอง 14,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย”
พิพากษายืน

Share