แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ของคนงานตามมติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้วโจทก์จะกลับมาอ้างภายหลังว่าการคำนวณภาษีด้วยวิธีนี้ไม่ถูกต้องโดยต้องคำนวณตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นเมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่อาจคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวได้ เพราะโจทก์ไม่สามารถนำสืบฐานะทางครอบครัวของคนงานของโจทก์ว่ามีภริยาและบุตรหรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนงานที่ปรากฏชื่อในใบสำคัญการจ่ายเงินมีตัวตนอยู่หรือไม่ และโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างไปจริงหรือไม่ เช่นนี้แม้มติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากรเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติในการคำนวณภาษีและไม่มีกฎหมายรับรอง โจทก์ก็ได้ให้ความยินยอมในการคำนวณภาษีตามแนวทางปฏิบัตินั้นแล้ว การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอ้างว่า โจทก์จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่คนงานโดยไม่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จำเลยให้การว่า โจทก์ยอมรับแล้วว่าไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและขอร้องให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2521โจทก์ได้จ่ายค่าแรงงาน เงินเดือน และค่าอาหารแก่ลูกจ้างรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 846,196 บาท ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การจำเลยหมายเลข1 ถึง 3 ในการจ่ายค่าแรงงาน เงินเดือน ค่าอาหารดังกล่าวโจทก์ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 เจ้าพนักงานประเมินจึงนำเอายอดเงินดังกล่าวเป็นฐานคำนวณให้โจทก์เสียภาษีเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 3 ของเงินจำนวนดังกล่าว และได้แจ้งการประเมินไปยังโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โดยให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 30,646.50 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างที่ปรากฏชื่อในใบสำคัญจ่ายเงินเอกสารหมาย จล.2 มีตัวตนหรือไม่และโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างไปจริงหรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบฐานะทางครอบครัวของลูกจ้างของโจทก์ว่า มีภริยาและบุตรหรือไม่ซึ่งจะนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายในคดีนี้ได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ต้องคำนวณตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร จะคำนวณตามมติของคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) ที่ให้คำนวณภาษีอัตราร้อยละ 3ของเงินได้ผู้มีรายได้นั้นไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรับรองให้อำนาจคณะกรรมการดังกล่าวลงมติมาบังคับได้ แม้โจทก์จะยินยอมให้คำนวณภาษีเช่นนั้นมาแล้วก็ตาม เห็นว่า การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในคดีนี้เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยทั้งสามได้คิดคำนวณเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ของคนงานนั้นเป็นไปตามที่นายเธียรวิทย์ หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้ให้ความยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินกระทำเช่นนั้นได้ ทั้งเจ้าพนักงานประเมินและจำเลยทั้งสามก็ได้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร(กพอ.) ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 6 ซึ่งระบุว่า ในกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรที่จ่ายเป็นรายวันให้กับผู้มีเงินได้แต่ละคนไม่เกินคนละวันละ100 บาท ผู้จ่ายจะหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมินที่จ่ายนั้นโดยไม่ต้องคำนวณตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ เว้นแต่ผู้จ่ายรายใดประสงค์จะคำนวณหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามวิธีการคำนวณดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรก็ให้ปฏิบัติได้ สำหรับกรณีของโจทก์นี้เห็นได้ชัดว่า เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยทั้งสามไม่อาจคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวิธีการคำนวณดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรได้ เนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักฐานที่จำเป็นมาแสดง และจะคำนวณภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย โดยถือว่าคนงานไม่มีภริยาและบุตรก็มิได้เพราะจำนวนคนงานยังไม่แน่นอนโดยโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าลูกจ้างที่ปรากฏชื่อในใบสำคัญจ่ายเงินมีตัวตนหรือไม่ และโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างไปจริงหรือไม่ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีอากรจากพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ เมื่อโจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ของคนงานเช่นนี้ โจทก์จะอ้างภายหลังว่า การคำนวณภาษีด้วยวิธีนี้ไม่ถูกต้องนั้นไม่ได้ แม้มติคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (กพอ.) เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติในการคำนวณภาษี และไม่มีกฎหมายรับรอง แต่โจทก์ก็ได้ให้ความยินยอมในการคำนวณภาษีตามแนวทางปฏิบัตินั้นแล้วศาลฎีกาจึงเห็นว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน