คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46กำหนดให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การในเรื่องนี้ไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคสองโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของอ. ผู้ตายในคดีอาญาจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองด้วยเมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญานำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่1ดังนั้นคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาจำเลยที่1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเมื่อจำเลยที่1ซึ่งกระทำแทนจำเลยที่2มิได้ประมาทจำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่3ผู้รับประกันภัยจะมิได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่3ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบด้วยมาตรา247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน294,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดในวงเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลาศาลชั้นต้นไม่รับและมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องคดี เหตุละเมิดไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันชำระเงิน 294,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 294,430 บาท แต่แยกเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 จำนวน 174,430 บาท และค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2จำนวน 120,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนจึงไม่เกินคนละ 200,000 บาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืนให้ยกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทชนนายอมรศักดิ์ สังข์ประพันธ์ จนถึงแก่ความตาย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5319/2537 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการนั้นปรากฎว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นจึงต้องถือว่าคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46บัญญัติให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การในเรื่องนี้ไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของนายอมรศักดิ์ผู้ตายในคดีอาญาดังกล่าวจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวนำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1ดังนั้น คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำแทนจำเลยที่ 2มิได้ประมาท จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น อนึ่งคดีนี้เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share