คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6365/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะจำเลยจดทะเบียนสมรสกับพันโท ส. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2525 พันโท ส. จดทะเบียนสมรสกับนาง ส. อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น การสมรสระหว่างจำเลยกันพันโท ส. จึงฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1496 (เดิม) การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับจำเลยและพันโท ส. มิได้ทำการสมรสกัน จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ แม้ต่อมาภายหลังพันโท ส. จะได้จดทะเบียนหย่ากับนาง ส. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 ก็หาทำให้การสมรสระหว่างจำเลยและพันโท ส. กลับมีผลเป็นการสมรสที่ชอบขึ้นมาไม่
การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 (เดิม) มิใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่างพันโท สมยศกับจำเลยเป็นโมฆะ และเพิกถอนทะเบียนสมรสดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การสมรสระหว่างพันโท สมยศกับจำเลยเป็นโมฆะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การสมรสที่เป็นโมฆะจะสมบูรณ์ด้วยการให้สัตยาบันได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อพันโท สมยศจดทะเบียนหย่ากับนางสมศิริแล้ว คงมีแต่การจดทะเบียนสมรสระหว่างพันโท สมยศกับจำเลย จึงถือว่าพันโท สมยศให้สัตยาบันการสมรสระหว่างพันโท สมยศกับจำเลยแล้ว การสมรสระหว่างพันโท สมยศกับจำเลยย่อมกลับมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ขณะที่พันโท สมยศจดทะเบียนสมรสกับจำเลยนั้น พันโท สมยศมีนางสมศิริเป็นคู่สมรสอยู่แล้วจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕๒ การสมรสระหว่างพันโท สมยศกับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๖ (เดิม) การตกเป็นโมฆะดังกล่าวมีผลเท่ากับจำเลยและพันโท สมยศมิได้ทำการสมรสกัน จึงไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ตามที่จำเลยฎีกา แม้ต่อมาภายหลังพันโท สมยศจะได้จดทะเบียนหย่ากับนางสมศิริ ทำให้พันโท สมยศไม่มีคู่สมรสแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้การสมรสที่เสียเปล่าไปนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๗ (เดิม) นั้น มิใช่การใช้สิทธิเรียกร้องจึงไม่อาจนำเอาบทบัญญัติในเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๙ และมาตรา ๑๙๓/๓๐ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share