แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาทและชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่าที่พิพาทอยู่ในส่วนของที่ดินของจำเลย ฟ้องโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา ดังนี้ การที่ศาลจะวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของฝ่ายใด ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในส่วนของโฉนดที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้จ้างวานนายวิโรจน์ทองเต็ม ให้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยใช้เรือมีเครื่องตักดินบุกรุกเข้าไปตักและขุดดินในบ่อเลี้ยงปลา และรื้อทำลายคันกั้นน้ำบ่อเลี้ยงปลาของโจทก์เสียหาย และเป็นเหตุให้ปลาของโจทก์ที่เลี้ยงไว้ในบ่อหนีออกลงคลองเขื่อนขันธ์ไปหมด นอกจากนี้ ยังตัดทำลายต้นมะขาม ต้นสะแก ที่โจทก์ปลูกไว้ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาทุจริต รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขเพื่อแย่งและถือเอาการครอบครองที่ดินของโจทก์ไปเป็นของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดผลประโยชน์จากการขายปลาปีละประมาณ 10,000 บาท ขาดผลประโยชน์จากการตัดต้นไม้ขายเป็นฟืนปีละ 3,000 บาท คันดินกั้นน้ำที่ถูกทำลายและพื้นดินที่ถูกขุดเป็นร่องน้ำถ้าจะซ่อมแซมให้ดีดังเดิมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 362, 83, 84 และพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้น 33,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญารับฟ้องเฉพาะคดีส่วนแพ่ง
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ตามฟ้อง ความจริงเป็นที่ดินอยู่ในโฉนดเลขที่ 10003 ของจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามเป็นผู้ครอบครองโจทก์ไม่เคยเลี้ยงปลาหรือปลูกต้นไม้ในที่ดินแปลงนี้มาก่อน โจทก์จึงไม่เสียหาย หากจะฟังว่าโจทก์เสียหายก็ไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้ว วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสาม เห็นว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสาม กล่าวหาว่าบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ในที่ดินพิพาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องและให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีนี้อันเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ที่โจทก์เบิกความว่าที่ดิน (ตาม ส.ค.1เอกสารหมาย จ.1) ของโจทก์อยู่ระหว่างกลางของที่ดินจำเลยทั้งสามทั้งสองโฉนดกับคลองเขื่อนขันธ์ ที่ดินสองโฉนดนี้เดิมเป็นของโจทก์ต่อมาโจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 แต่ปรากฏตามรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสามทั้งสองแปลงว่า ที่ดินทั้งสามแปลงนั้นติดกับคลองเขื่อนขันธ์ ไม่มีช่องว่างพอที่จะมีที่ดินของโจทก์อยู่ระหว่างกลางของคลองเขื่อนขันธ์กับที่ดินจำเลยทั้งสามได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว ศาลเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามกฎหมายพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญาให้รับฟ้องเฉพาะคดีส่วนแพ่งโจทก์อุทธรณ์ในคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ เพราะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีส่วนอาญาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่โจทก์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์การที่ศาลจะวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของฝ่ายใดศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาถึงที่สุด แล้วว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในส่วนของ ส.ค.1 ตามเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์โดยอยู่ในระหว่างกลางของคลองเขื่อนขันธ์กับที่ดินจำเลยทั้งสามทั้งสองโฉนดนั้น ปรากฏตามรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงว่าที่ดินทั้งสองแปลงติดกับคลองเขื่อนขันธ์ จึงไม่มีที่ดินของโจทก์อยู่ในระหว่างคลองเขื่อนขันธ์กับที่ดินจำเลยทั้งสามเป็นการฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในส่วนของโฉนดที่ดินของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสามอันเป็นการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นโดยตรงว่า จำเลยทั้งสามได้บุกรุกทำให้เสียทรัพย์ในที่ดินพิพาทของโจทก์หรือไม่ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวมาวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามมิได้ทำละเมิดโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.