คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2422/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี โดยมิได้บรรยายว่าทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดของกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวถึงตัวบุคคลผู้ถูกจำเลยขู่เข็ญ และเป็นเจ้าของทรัพย์ไว้เลยถือได้ว่าฟ้องโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีอีกด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชิงทรัพย์ กระเป๋าเงิน ๑ ใบ ตั๋วสำหรับรับปูนซิเมนต์ ๑ ฉบับ ใบสั่ง ใบขับขี่ของตำรวจทางหลวง ๑ ฉบับเงินสด ๑,๖๕๐ บาท โดยจำเลยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธจี้และขู่เข็ญว่าถ้าไม่ยอมจะฆ่าให้ตาย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำผิด หรือให้พ้นจากการจับกุม และจำเลยทั้งสองได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์ดังกล่าวไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ และสั่งริบรถจักรยายนต์ของกลางกับให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑,๕๕๐ บาท และให้คืนเงิน ๕๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรค ๓ ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี วางโทษจำคุกคนละ ๑๕ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ ๑๐ ปี เนื่องจากได้ความว่าผู้เสียหายได้รับเงินคืนไปแล้ว ๕๐๐ บาท จึงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ๑,๐๕๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ (๕) ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา ๑๙๒ แม้จำเลยที่ ๒ มิได้อุทธรณ์ แต่เหตุที่ยกฟ้องเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ได้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรีโดยบรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชิงทรัพย์โดยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธจี้และขู่เข็ญว่าถ้าไม่ยอมจะฆ่าให้ตาย มิได้บรรยายว่ทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสารสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดของบทกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้การที่ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวถึงตัวบุคคลผู้ถูกจำเลยใช้มีดจี้ ขู่เข็ญ และเป็นเจ้าของทรัพย์ไว้เลย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีอีกด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share