คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6352/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลได้ เนื่องจากผู้เสียหายย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยมีนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายด้วย มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำผู้เสียหายดังกล่าวออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งการที่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนดังกล่าวได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277 วรรคสอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 12 ปี รวมสองกระทง จำคุก 24 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 8 ปี รวมสองกระทงจำคุก 16 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกณัฐชนน พนักงานสอบสวนเบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 เวลาเช้า อาจารย์โรงเรียนบ้านคลองขุด ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง โทรศัพท์มาแจ้งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อำเภอทุ่งสงว่า มีเด็กนักเรียนถูกผู้ปกครองข่มขืนกระทำชำเรา พันตำรวจตรีสุพจน์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสงเดินทางไปสอบข้อเท็จจริงยังโรงเรียนดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 17 นาฬิกา พันตำรวจตรีสุพจน์จับกุมตัวจำเลยพร้อมบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยเด็กหญิงไม่ยินยอม ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพมามอบให้พยานดำเนินคดี พยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยในชั้นสอบสวนเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา พยานไปตรวจบ้านที่เกิดเหตุที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายและทำแผนที่สังเขปแสดงที่เกิดเหตุ ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา ต่อมาพยานสอบสวนผู้เสียหายโดยมีพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายด้วย ซึ่งผู้เสียหายให้การสรุปได้ว่าเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อนถามปากคำ ผู้เสียหายไปอาศัยอยู่ที่บ้านจำเลย ผู้เสียหายอยู่ที่บ้านของจำเลยได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในคืนหนึ่งขณะผู้เสียหายกำลังนอนหลับในห้องนอนเพียงคนเดียว จำเลยเข้ามาถอดกางเกงนอนและกางเกงชั้นในของผู้เสียหายออกแล้วถอดกางเกงของจำเลยออกใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยจำเลยนอนคว่ำทับร่างกายผู้เสียหายไว้ สักครู่มีน้ำเหนียว ๆ ที่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย แล้วจำเลยใส่กางเกงให้ผู้เสียหายและใส่กางเกงของตนออกจากห้องผู้เสียหายไป จำเลยเข้าข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายดังกล่าวประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งผู้เสียหายกลัวไม่กล้าเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้ใดฟัง จนกระทั่งมาเล่าเรื่องราวดังกล่าวให้ครูประจำชั้นฟัง และระหว่างที่ผู้เสียหายให้การดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้บันทึกภาพและเสียงไว้ด้วย ซึ่งนางสุชาดา ครูประจำชั้นของผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนสนับสนุนว่า ครูที่สอนสังเกตเห็นผู้เสียหายไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนเด็กอื่น เวลาเรียนเหม่อลอย พยานจึงเรียกผู้เสียหายมาสอบถาม ผู้เสียหายจึงเล่าเรื่องที่ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราให้ฟังโดยจำเลยรับว่าข้อเท็จจริงเป็นดังคำให้การของนางสุชาดาจริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายแพทย์สมพงศ์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ตรวจภายในแล้วปรากฏว่าพบบาดแผลฉีกขาดเก่าบริเวณช่องคลอดให้ความเห็นว่า ผู้เสียหายผ่านการร่วมประเวณีมาแล้ว เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ไม่มีผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานโจทก์เพราะโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลได้ เนื่องจากผู้เสียหายย้ายออกจากบ้านตามภูมิลำเนาที่ระบุไว้ในบัญชีพยานโจทก์ไปอยู่ที่อื่น ไม่มีบุคคลใดทราบที่อยู่แน่นอนของผู้เสียหายและผู้เสียหายไม่มีหลักฐานที่อยู่ทางทะเบียน ซึ่งศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์โดยพนักงานสอบสวนได้พยายามขวนขวายติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความถึง 9 นัด และขอให้ศาลหมายเรียกนายท้ามอ้นซึ่งเคยอุปการะเลี้ยงดูผู้เสียหายมาสอบถาม แต่ก็ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายย้ายไปอยู่ที่ใด รวมเป็นระยะเวลานานเกือบ 1 ปี ก็ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายมาเบิกความได้ แต่กลับได้ความตามคำแถลงของทนายจำเลยในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 มีนาคม 2547 ว่า ทนายจำเลยติดใจสืบผู้เสียหายเป็นพยานจำเลย โดยทนายจำเลยจะตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อไป แต่ในที่สุดก็ไม่ปรากฏว่าสามารถติดต่อตัวผู้เสียหายให้มาเบิกความต่อศาลได้ โดยโจทก์คงมีคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน ซึ่งยืนยันว่าผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในบ้านที่เกิดเหตุในช่วงเวลาเกิดเหตุหลายคราว โดยมีร้อยตำรวจเอกณัฐชนน พนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว คำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยมีนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายด้วย มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำผู้เสียหายดังกล่าวออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ ซึ่งการที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ดังนั้น ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนดังกล่าวได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลย ไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงเชื่อว่า ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง ส่วนนางสุชาดาครูประจำชั้นของผู้เสียหายและนายแพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย หรือมีเหตุทำให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยแต่อย่างใด พยานโจทก์ดังกล่าวจึงเชื่อถือรับฟังเป็นความจริงได้ นอกจากนี้เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทราบเหตุที่เข้าจับกุมและสอบสวนจำเลยในวันเดียวกัน ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนโดยทันที ทั้งนำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุ และจำเลยลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ในวันเดียวกันนั้น จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่า จำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคงยิ่งขึ้น ส่วนที่จำเลยนำสืบปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิด แต่ถูกนายท้ามอ้นบิดาของภริยาจำเลยกลั่นแกล้งกล่าวหาเพราะไม่พอใจจำเลยที่ไม่ยินยอมขายที่ดินมาชำระหนี้สิน และที่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพราะต้องการประชดนางนงนุชภริยาจำเลยนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ทั้งไม่สมเหตุผล ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ขณะเกิดเหตุที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 13 ปี หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ผู้เสียหายอายุ 10 ปีเศษ ตามที่โจทก์ฟ้อง ฉะนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ดังวินิจฉัยมามีน้ำหนักมั่นคงฟังประกอบกัน เชื่อได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายในช่วงเวลาเกิดเหตุอย่างน้อย 2 คราว ตามที่โจทก์ฟ้องจริง จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยโดยยกฟ้องจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share