แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วส่งมอบให้ธนาคารก.เพื่อขายลดเช็ค ย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นธนาคารก. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ และเมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจึงมิใช่การเรียกเก็บเงินในฐานะที่โจทก์ยังเป็นผู้ทรงเช็คอยู่ครั้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้ธนาคารก.และรับเช็คพิพาทคืนมาโจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช่ผู้ทรงเช็ค ขณะนั้นไม่จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงิน
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลฎีกาสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนใจความว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร ลงวันที่ 20 มกราคม 2535จำนวนเงิน 60,000 บาท และลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 จำนวนเงิน 60,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแทนนางสุดา สุนทรโรหิตให้แก่โจทก์ ก่อนเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไปขายลดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาครต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำเช็คไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธว่าจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ โจทก์ในฐานะผู้สลักหลังได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสมุทรสาคร จนครบถ้วนและรับเช็คกับใบคืนเช็คคืนมา โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คฉบับแรกแก่โจทก์ 64,487.67 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และตามเช็คฉบับที่ 2จำนวน 64,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 เนื่องจากเช็คดังกล่าวเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้มีชื่อ การโอนเช็คย่อมโอนกันได้โดยสลักหลังและส่งมอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้สลักหลังสามารถฟ้องไล่เบี้ยผู้สลักหลังกันเองและไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คได้ภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินและรับเช็คคืนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาคร โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นเวลา 6 เดือนดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาครและรับเช็คพิพาทตามสำนวนแรกคืนมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2535ตามสำนวนที่ 2 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออกก่อนถึงกำหนดเรียกเก็บเงินโจทก์นำไปทำสัญญาขายลดไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสมุทรสาคร โดยโจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทไว้ด้วย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงินให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาคร เมื่อวันที่24 มกราคม 2535 และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2536 และวันที่22 กุมภาพันธ์ 2536 ตามลำดับ คดีมีปัญหาวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อ จึงย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ การที่โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทแล้วส่งมอบให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาคร เพื่อขายลดเช็คนั้นย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 920, 989ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสมุทรสาคร จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสมุทรสาคร นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจึงมิใช่การเรียกเก็บเงินในฐานะที่โจทก์ยังเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทดังฎีกาโจทก์แต่อย่างใด ครั้นต่อมาเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสมุทรสาคร และรับเช็คพิพาทคืนมา โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช่ผู้ทรงเช็คขณะนั้นไม่ โจทก์มีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้ภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คพิพาทและใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อล่วงเลยระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน