คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6339/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัวให้รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัทจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งนั้นจำเลยที่ 2 ยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาในการปล่อยสินเชื่อให้จำเลยที่ 1จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีคนละฐานะกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1ขอกู้เงินโจทก์จำนวน 26,000,000 บาท เพื่อนำไปสร้างอาคารเพื่อเป็นการชำระหนี้จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้โจทก์ ในการขอกู้เงินและออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 นี้จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดทวงถาม โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้วต่างไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 29,526,302.11 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน26,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเฉพาะการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ครั้งแรกจำนวน 26,000,000 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่เวนคืนไปแล้ว แต่การกู้เงินรายนี้มีการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งถึงกำหนดชำระไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เดิม กลับยินยอมให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตัวสัญญาใช้เงินมาตลอด โจทก์จึงผิดข้อตกลงไม่เรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 เอง ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2ค้ำประกันไว้ได้ระงับสิ้นไปแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์อีกต่อไป โจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวที่ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้เช่าช่วงและผู้รับโอนสิทธิการเช่าอาคารจากจำเลยที่ 1ตามข้อตกลง ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำอาคารไปให้บุคคลภายนอกเช่าช่วงและรับโอนสิทธิการเช่าได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 2เข้าหุ้นกับหุ้นส่วนของจำเลยที่ 2 อีก 4 คน ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) 2 แปลง วางเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 4,000,000 บาท และกำหนดชำระเงินส่วนที่เหลือ 8,000,000 บาท ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2534 และวันที่ 9 สิงหาคม 2534 แต่เมื่อโจทก์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้เช่าช่วงและผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยที่ 1 จึงทำให้จำเลยที่ 2 ขาดประโยชน์และได้รับความเสียหายเท่ากับจำนวนเงินตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 12,000,000 บาทจึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 12,000,000 บาท
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การจำเลยที่ 2 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงไม่รับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะต้องเป็นผู้ดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 และตามฟ้องเดิมของโจทก์จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น การที่จำเลยที่ 2 ร่วมลงทุนซื้อที่ดินที่จังหวัดชุมพรก็เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 หากกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ผลดีก็จะส่งผลให้จำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ในรูปเงินปันผล ถ้าโจทก์ได้ให้สินเชื่อแก่ผู้เช่าช่วงและผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงไว้ จำเลยที่ 1 ก็สามารถคืนเงินกู้ให้แก่โจทก์ได้ การกระทำของโจทก์ที่ไม่ปล่อยสินเชื่อจึงทำให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม เห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นส่วนตัวให้รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งนั้นจำเลยที่ 2 ยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาในฐานะที่จำเลยที่ 2เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาในการปล่อยสินเชื่อให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีคนละฐานะกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสามศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share