แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาปลอมและใช้ตั๋วแลกเงินปลอมแต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยข้อหาปลอมและใช้ตั๋วแลกเงินอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมโดยให้เหตุผลว่า ตั๋วแลกเงินดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสิทธิ ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงมีคำสั่งปล่อยตัวจำเลย และในวันเดียวกันจำเลยถูกจับและควบคุมตัวในคดีอื่นข้อหาปลอม ใช้หนังสือใบรับฝากตั๋วแลกเงินปลอมรวม16 กรรมแต่ต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จนกระทั่งโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264,268 ดังนี้ แม้ว่าตั๋วแลกเงินที่ถูกฟ้องในคดีนี้เป็นฉบับเดียวกับที่จำเลยถูกดำเนินคดีเป็นคดีแรก เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีนี้แล้วโดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงย่อมจะผ่านขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยแล้ว ฎีกาจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยถูกฟ้องในคดีอื่นต่อศาลอาญากรุงเทพใต้แม้จำเลยจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วโจทก์จึงไม่ต้องนำตัวจำเลยมาศาล เมื่อจำเลยไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้จึงไม่ต้องขอผลัดฟ้องหรือขออนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด)ฟ้องคดีนี้ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 7 และ 9
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างต้นเดือนพฤศจิกายน 2538 วันใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ปลอมเอกสารโดยนำภาพถ่ายซึ่งถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับตั๋วแลกเงินของ บริษัทเอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดหมายเลข 027500 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาทสั่งจ่ายธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 อันเป็นเอกสารที่แท้จริง และได้ขายให้แก่นางจันทร์จรัส ทัพพยุทธพิจารณ์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 มาแก้ไขดัดแปลง (1) จำนวน 1,000,000 บาทเป็นจำนวน 10,000,000 บาท (2) วันที่ออกของตั๋วแลกเงินจาก NOVEMBERเป็นพฤศจิกายน (3) วันกำหนดสั่งจ่ายของตั๋วแลกเงินจาก FEBRUARY เป็นกุมภาพันธ์ (4) จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งพิมพ์ว่า ONE MILLION BAHT ONLYเป็นสิบล้านบาทถ้วน อันเป็นการเติมดัดแปลงแก้ไขตัวอักษร ตัวเลข และข้อความในเอกสารภาพถ่ายตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวให้ผิดไปจากภาพถ่ายสำเนาตั๋วแลกเงินที่แท้จริงเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัทเอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และนางจันทร์จรัส หรือประชาชนและจำเลยได้นำเอกสารปลอมดังกล่าวมาอ้างต่อนางจีรจิตต์ จำรัสโรมรัน ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นภาพถ่ายซึ่งถ่ายมาจากต้นฉบับตั๋วแลกเงินฉบับจริง และเสนอขายตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวแก่นางจีรจิตต์ในราคา 9,771,568 บาท เป็นเหตุให้นางจีรจิตต์หลงเชื่อจึงตกลงซื้อและมอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยไป ทั้งนี้ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางจีรจิตต์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดหรือประชาชน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4007/2539ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268,91 กับนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 4007/2539 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 264 ลงโทษตามมาตรา 268 ให้จำคุกจำเลย 4 เดือนส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4007/2539ของศาลอาญากรุงเทพใต้ นั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยจึงไม่นับโทษต่อให้ ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะข้อ 2 ซึ่งป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานปลอมและใช้ตั๋วแลกเงินอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมและจำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2539 ตลอดมาจนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2539พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยเนื่องจากเห็นว่าเอกสารที่โจทก์ร่วมแจ้งความดังกล่าวมิใช่เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยมิได้มีการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา264,268 พนักงานสอบสวนและโจทก์ (พนักงานอัยการ) มิได้ขอผลัดฟ้อง และก่อนฟ้องโจทก์ (พนักงานอัยการ) มิได้ขอผลัดฟ้องและก่อนฟ้องโจทก์ (พนักงานอัยการ)มิได้ขออนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 7 และ 9 ทั้งในวันฟ้องมิได้นำตัวจำเลยมาศาลด้วย เป็นการฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ประเด็นนี้คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2541ว่า นายดาบตำรวจอุทิศ ใจดี จับกุมจำเลยโดยชอบ และร้อยตำรวจเอกธนัทธรรมากุลวิชช์ กับร้อยตำรวจเอกจตุพล บงกชมาศ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 นายดาบตำรวจอุทิศจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาว่า จำเลยปลอมและใช้ตั๋วแลกเงินปลอมซึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวเป็นฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ แต่ในครั้งนั้นพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าตั๋วแลกเงินดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิจึงฝากขังจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยข้อหาปลอมและใช้ตั๋วแลกเงินอันเป็นเอกสารสิทธิปลอมโดยให้เหตุผลว่า ตั๋วแลกเงินดังกล่าวมิใช่เอกสารสิทธิ และศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยตัวจำเลยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม2539 ในวันเดียวกันนี้จำเลยถูกจับและถูกควบคุมตัวในคดีอื่นข้อหาปลอมใช้หนังสือใบรับฝากตั๋วแลกเงินปลอมรวม 16 กรรม จำเลยถูกควบคุมตัวในคดีดังกล่าวจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540เห็นว่า ในส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยมิได้มีการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,268 นั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีนี้แล้วโดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงย่อมจะผ่านขั้นตอนการแจ้งข้อหาดังที่จำเลยอ้างฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนฎีกาปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมิได้นำตัวจำเลยมาศาลทั้งมิได้ขอผัดฟ้องและก่อนฟ้องโจทก์มิได้ขออนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสุงสุด) จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยถูกฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4007/2539 แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วโจทก์จึงไม่จำต้องนำตัวจำเลยมาศาลเมื่อจำเลยไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ ดังนั้นจึงไม่จำต้องขอผลัดฟ้องหรือขออนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด) ฟ้องคดีนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7 และ 9 คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน