คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากส.ผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 ออกไปจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 2 เพื่อทำธุรกิจให้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงได้นำรถยนต์ออกไปใช้งานในวันนั้นจำเลยที่ 1 ได้เอารถยนต์พาภรรยาและบุตรไปแวะเยี่ยมบิดาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย และขากลับจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ไปชนรถจักรยานยนต์ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บก็ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2ซึ่งมีนายสุจินต์ พฤฒิธาดา เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-7087 ลพบุรีเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2529 เวลา 16 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนคันคลองชลประทานคลองระพีพัฒน์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถประมาทโดยขับรถเร็วและล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้ามาในทางรถสวน เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน สระบุรี ข-6417 ซึ่งมีนายเจริญ พูนเทียบรัตน์ เป็นคนขับสวนทางมาและมีโจทก์นั่งซ้อนท้ายทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนน-7087 ลพบุรี ออกไปเที่ยวส่วนตัว การกระทำละเมิดมิได้กระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 226,773 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า ในเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นพนักงานขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-7087 ลพบุรี ของจำเลยที่ 2 ไปชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน สระบุรี ข-6417 ซึ่งนายเจริญ พูลเทียบรัตน์เป็นผู้ขับ โดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บต้องถูกตัดขาข้างซ้ายคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 1มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีเพียงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2จะนำสืบต่อสู้คดีว่าห้างจำเลยที่ 2 ไปเปิดสำนักงานสาขาขายรถยนต์อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายสมเกียรติ ออสกุลพนักงานขายของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมโชว์รูมดังกล่าวและจำเลยที่ 1เป็นพนักงานขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ประจำอยู่สำนักงานสาขาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 แอบลอบเอารถยนต์คันเกิดเหตุไปใช้ธุรกิจส่วนตัวโดยฝ่าฝืนระเบียบของห้างจำเลยที่ 2โดยนายสมเกียรติเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่านายสมเกียรติเก็บรถยนต์คันเกิดเหตุไว้รวมกับรถยนต์คันใหม่ในห้องโชว์รูม ก่อนออกไปทำธุระที่จังหวัดลพบุรีในเช้าวันเกิดเหตุนายสมเกียรติได้ล็อกกุญแจโชว์รูมไว้แล้ว ตอนบ่ายกลับมาที่สำนักงานจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 แอบลอบเอารถยนต์คันเกิดเหตุไป แต่ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบุญมี เฮงสุวรรณ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์ประกอบกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุจินต์ พฤติธาดาซึ่งเป็นผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.9 ได้ความว่านายสุจินต์ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ห้างจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ประกอบกิจการจัดสรรขายบ้านและที่ดิน ฯลฯ รถยนต์คันเกิดเหตุเอาไว้ใช้ในกิจการของห้างจำเลยที่ 2 โดยไม่มีพนักงานขับรถยนต์แต่อย่างใด ผู้ใดมีธุระก็นำรถยนต์ออกไปใช้งานเกี่ยวกับห้างโดยจะต้องได้รับอนุญาตจากนายสุจินต์ในฐานะเป็นผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 ก่อนจำเลยที่ 1เป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ติดต่องานภายนอกตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุจินต์ฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 1ทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดลพบุรี ไม่ได้ทำงานอยู่กับสาขาของจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานายสมเกียรติพยานจำเลยเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เอารถยนต์คันเกิดเหตุออกไปจากสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานำไปใช้ธุรกิจส่วนตัวโดยพลการรับฟังไม่ได้และข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุจินต์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 จะต้องได้รับอนุญาตจากนายสุจินต์ให้นำรถยนต์คันเกิดเหตุออกไปจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 2 เพื่อทำธุรกิจให้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงได้นำรถยนต์ออกไปใช้งาน ดังนั้นแม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าในวันนั้นจำเลยที่ 1 ได้เอารถยนต์คันเกิดเหตุพาภรรยาและบุตรไปแวะเยี่ยมบิดาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย และขากลับจำเลยที่ 1ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปชนรถจักรยานยนต์ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share