คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 629/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยชกต่อยราษฎรคนหนึ่ง ตำรวจเข้าจับจำเลย ๆ ต่อตำรวจนั้น 1 ที แล้วจำเลยถูกฟ้องต่อศาลทหารฐานทำร้ายร่างกายราษฎรกับตำรวจผู้นั้น และศาลทหารได้ลงโทษจำเลยแล้ว โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยต่อศาล จังหวัดฐานต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานอีกไม่ได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษในกรรมเดียวกันซ้ำอีก และสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องต่อศาล ของโจทก์ก็ระงับไปแล้ว ฟ้องจึงเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชกต่อยนายเต็กพุ่ย ในขณะที่พนักงานสอบสวนกับนายสิบตำรวจเอกพร้อมคุมตัวนายเต็กพุ่ยไป นายสิบตำรวจเอกพร้อมเข้าจับกุมจำเลย ๆ ชกต่อนายสิบตำรวจเอกพร้อม ๑ ที เป็นการต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษ
จำเลยปฏิเสธตลอดข้อหาและต่อสู้ว่า โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องซ้ำกับคดีของศาลทหาร เพราะเป็นมูลเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยกระทำผิดเป็นกรรมเดียววาระเดียวกัน แต่ผิดกฎหมายหลายบท จำเลยถูกฟ้องต่อศาลทหาร ฐานทำร้ายร่างกาย และศาลลงโทษแล้วจะมาแยกฟ้องฐานนี้อีกถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ ทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ จำเลยทำผิดสองสถาน ต่างบทต่างมาตรา ต่างกรรมต่างวาระ ทั้งความผิดฐานนี้ยังไม่มีคำพิพากษามาก่อน
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันฟังได้ว่านายสิบตำรวจเอกพร้อมจับนายเต็กพุ่ยแล้ว เดินตามกันมาพร้อมด้วยพนักงานสอบสวนระหว่างทางจำเลยเข้ามาชกต่อยนายเต็กพุ่ย นายสิบตำรวจเอกพร้อม เข้าจับจำเลย ๆ ต่อยนายสิบตำรวจเอกพร้อม ๑ ที ต่อมาจำเลยถูกฟ้องต่อศาลทหารฐานทำร้ายร่างกายนายเต็กพุ่ยและนายสิบตำรวจเอกพร้อม และศาลทหารได้ลงโทษจำเลยไปแล้ว โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานคดีนี้ต่อศาลจังหวัดกระบี่อีกสำนวนหนึ่ง ดังนี้เห็นว่า มาตรา ๙๐ แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ถ้าโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดกฎหมายบทใดบ้าง ก็ชอบที่จะฟ้องเสียในคราวเดียวกัน เพราะการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียว เมื่อจำเลยได้ถูกฟ้องและลงโทษไปแล้ว ดังนี้ โจทก์จะแยกฟ้องต่อศาลเดิมหรือต่างศาลกันอีกต่อไปไม่ได้ มิฉะนั้ จำเลยจะต้องรับโทษในกรรมเดียวซ้ำอีก เมื่อความผิดของจำเลยได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องต่อศาลของโจทก์จึงเป็นอันระงับ ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษายกฎีกาโจทก์ ยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share