คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6284/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินค่าน้ำมันที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนโดยพิจารณาจากการออกปฏิบัติงานนอกสถานที่ของโจทก์เพียงอย่างเดียวซึ่งหน้าที่การทำงานปกติของโจทก์ต้องออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้านอกสถานที่ และโดยส่วนใหญ่โจทก์จะได้รับเงินดังกล่าวเต็มจำนวนทุกเดือนเงินดังกล่าวจำเลยจ่ายให้โจทก์ตามผลของการปฏิบัติงานของโจทก์ ก็คือการจ่ายตามผลงานนั้นเอง และเงินดังกล่าวจำเลย ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน จึงเป็นค่าจ้างและจะต้องนำเงิน จำนวนดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยนั้น เป็นการ ยกข้อเท็จจริงขึ้นโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลแรงงานที่ฟัง ข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถให้ไม่แน่นอนแล้วแต่การออกปฏิบัติงานนอกสถานที่ของโจทก์ตามส่วน เป็นเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถให้โจทก์ที่ต้องจ่ายจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างมีผลกระทบความรู้สึกของพนักงานส่วนหนึ่งที่ทราบเรื่องและไม่พอใจโจทก์ และการที่จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเกิดปัญหาขึ้นภายหลังได้นั้นแม้จะเป็นการคาดเดาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดจริงก็ตาม แต่เมื่อเป็นการคาดการณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริงที่สืบเนื่องจาก ผลแห่งการกระทำของโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นไปตามเหตุที่มีอยู่จริงและเพื่อผลในการป้องกันมิให้เกิดปัญหา หาได้มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อเดือนมิถุนายน 2527 จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำผิด และโดยจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตำแหน่งสุดท้ายของโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่การตลาด ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนเดือนละ 17,010 บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ 6,000 บาทรวมเป็นค่าจ้างเดือนละ 23,010 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คิดเป็นเงิน 138,060 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2537 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 เป็นเงิน 40,641 บาทค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมซึ่งทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจหางานใหม่ได้ คิดเป็นเงินค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวนสามสิบเดือนเป็นเงิน 690,300 บาทนอกจากนี้จำเลยยังต้องจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งหักจากค่าจ้างของโจทก์ส่วนหนึ่งและจำเลยจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่งเข้าในกองทุน โจทก์จะได้รับเมื่อออกจากงานพร้อมผลประโยชน์รวมเป็นเงิน 132,892.89 บาท ซึ่งจำเลยได้รับมาแล้วแต่ไม่จ่ายให้โจทก์และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษเท่ากับร้อยละห้าสิบของเงินสมทบหากทำงานครบ 10 ปีซึ่งจะถึงกำหนดในเดือนมิถุนายน 2537 แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้คิดเป็นเงิน66,446 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันที่ 9 เมษายน 2537 จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้กระทำอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเรานางสาวรุ่งนภา คำธร ซึ่งไม่ใช่ภริยาตน ต่อมาโจทก์ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนและขอขมา นางสาวรุ่งนภาจึงไม่ติดใจดำเนินคดีและขอถอนคำร้องทุกข์ แต่ขอให้จำเลยลงโทษทางวินัยโจทก์ จำเลยเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเสียสิทธิที่จะได้ทำงานครบ 10 ปี แล้วจะได้รับโบนัสพิเศษจากจำเลย กับไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่อ้างว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมส่วนค่าน้ำมันรถตามฟ้องโจทก์มิใช่เป็นค่าจ้าง แต่จำเลยจ่ายให้เป็นการชดเชยค่าเสื่อมสภาพของรถและค่าน้ำมันรถให้แก่เจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งจะจ่ายให้เมื่อโจทก์ออกปฏิบัติงานที่นอกสำนักงาน และจะต้องมีรายงานการปฏิบัติงานแสดงให้กับจำเลยเพื่อจ่ายให้ตามจำนวนเวลาที่ปฏิบัติงาน โจทก์จึงนำเงินดังกล่าวมาคำนวณเป็นค่าจ้างรายเดือนไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อเดือนมิถุนายน 2527 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานการตลาด ฝ่ายการตลาดและเครดิต มีหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนร้านค้าที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่จำหน่ายรถจักรยานยนต์ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์เดือนละ 17,010 บาทจำเลยยังจ่ายค่าพาหนะให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นไปตามระเบียบอีกเดือนละไม่เกิน 6,500 บาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2537 โจทก์ได้ขับรถพานางสาวรุ่งนภา คำธร ซึ่งลาป่วยกลับบ้านโดยไปกัน 2 คนระหว่างทางโจทก์พานางสาวรุ่งนภาไปโรงพยาบาลกรุงเทพแต่นางสาวนภาไม่ประสงค์จะเข้าโรงพยาบาล ต่อมาโจทก์จึงขับรถออกจากโรงพยาบาลดังกล่าว เมื่อผ่านโรงแรมเอวันจึงได้ขับรถเข้าโรงแรมดังกล่าวแล้วพาโจทก์เข้าไปในห้องพักบอกว่าจะให้นางสาวรุ่งนภาพักผ่อน เมื่อเข้าห้องพักแล้วขณะนางสาวรุ่งนภานอนบนเตียงได้ถูกโจทก์ถอดเสื้อผ้าออกระหว่างนั้นมีเสียงวิทยุติดตามตัวของโจทก์ดังขึ้น แล้วโจทก์ได้กดดูจากนั้นได้พูดทางโทรศัพท์มือถือกับนายยงยุทธซึ่งทำงานอยู่ด้วยกับนางสาวรุ่งนภาขอให้โจทก์พาส่งกลับบ้าน โจทก์จึงได้ขับรถพานางสาวรุ่งนภากลับบ้าน ไปถึงบริเวณบ้านของนางสาวรุ่งนภา นางสาวรุ่งนภาได้ลงจากรถกลับเข้าไปในบ้านเองวันรุ่งขึ้นนางสาวรุ่งนภาหยุดงานแล้วไปทำงานวันที่ 7 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นวันจันทร์และแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้จำเลยทราบ แล้วไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสันในข้อหากระทำอนาจารและพยายามข่มขืนกระทำชำเรา โจทก์ได้ถูกเรียกตัวไปพบพนักงานสอบสวนแล้วได้รับการประกันตัวออกมาในวันนั้นหลังจากนั้นฝ่ายโจทก์ได้ขอให้นางสาวรุ่งนภาถอนคำร้องทุกข์นางสาวรุ่งนภาให้โจทก์ยอมรับผิดก่อน เมื่อโจทก์ยอมรับผิดนางสาวรุ่งนภาจึงถอนคำร้องทุกข์ให้ แต่เห็นว่าโจทก์ควรจะถูกลงโทษทางวินัยจึงมีหนังสือถึงจำเลยขอให้ลงโทษโจทก์ จำเลยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายเงินตามฟ้องให้โจทก์ค่าน้ำมันรถจำนวน 6,000 บาท ตามฟ้อง จำเลยจ่ายให้ไม่แน่นอนแล้วแต่การปฏิบัติงานของโจทก์ โดยหากโจทก์ออกปฏิบัติงานนอกสถานที่ไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของเวลาในการปฏิบัติงานทั้งเดือนจึงจะมีสิทธิได้รับเต็มจำนวน 6,500 บาทหากต่ำกว่านั้นจะได้รับลดลงตามส่วน ซึ่งโจทก์จะต้องทำรายงานออกปฏิบัติงานเสนอให้จำเลยพิจารณาจ่ายให้ เงินดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่จะต้องแสดงหลักฐานเป็นรายงานแสดงให้จำเลยทราบมิใช่เหมาจ่ายรวมเป็นค่าจ้างให้ แต่ถือเป็นเงินชดเชยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถให้แก่โจทก์ที่ต้องจ่ายไปจริงในการขับไปปฏิบัติงาน มิใช่ค่าจ้างแม้การกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดอาญาตามข้อกล่าวหาแต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างโจทก์กับนางสาวรุ่งนภาซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลยและการกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้จะกระทบต่อความรู้สึกของพนักงานส่วนหนึ่งที่ทราบเรื่องแล้วมีความรู้สึกไม่พอใจโจทก์แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่เชื่อเรื่องที่เกิดขึ้นซึ่งพนักงานอื่นจะไม่ให้ความร่วมมือกับโจทก์ในการปฏิบัติงานไม่ได้เพราะเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย การที่จะถือว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอันจะมีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างยิ่งควรเป็นเรื่องที่โจทก์มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่กับลูกค้าของจำเลย ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของโจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดซึ่งต้องติดต่อกับลูกค้า เรื่องดังกล่าวก็ไม่เรื่องที่เกิดกับลูกค้าที่โจทก์ไปติดต่อทั้งไม่ปรากฏว่าลูกค้าของจำเลยทราบเรื่องหรือทราบเรื่องแล้วไม่พอใจโจทก์จึงไม่ยอมติดต่อด้วย หรือเป็นเรื่องโจทก์มีปัญหาด้านการเงิน จึงจะถือว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการประพฤติผิดวินัยและมีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานอย่างยิ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในหน้าที่ 70 ข้อ 2.5ซึ่งมีโทษพักงานให้ออก หรือไล่ออก ตามข้อ 7.2 ในหน้าที่ 74จำเลยคงอ้างเหตุผิดวินัยและการลงโทษในข้อดังกล่าวมาเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัยในข้อดังกล่าวตามที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จะฟังว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงไม่ได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ แต่จำเลยเห็นว่าหากโจทก์ปฏิบัติงานต่อไปโดยพนักงานที่ร่วมงานด้วยกันไม่พอใจอาจเกิดปัญหาขึ้นในภายหลังได้ จึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมส่วนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่าจำนวนเงินตามฟ้องไม่ถูกต้องเพียงอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้จึงฟังว่าจำนวนเงินถูกต้อง แต่โจทก์เบิกความมีสิทธิได้รับจำนวน 132,812 บาท เมื่อโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานกรณีร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวแต่กำหนดให้เท่าที่โจทก์นำสืบซึ่งไม่เกินฟ้อง เฉพาะเงินโบนัสพิเศษโจทก์ทำงานยังไม่ครบ 10 ปี ตามระเบียบก็ไม่มีสิทธิได้อยู่แล้ว ค่าจ้างของโจทก์ไม่รวมค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นจำนวน 17,010 บาท โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยคิดจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คิดเป็นเงิน 102,060 บาทส่วนค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2537 เป็นต้นไป เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาในการจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 จำนวน 53 วัน คิดเป็นเงิน 30,051 บาทรวมกับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 132,812 บาทเป็นเงินทั้งสิ้น 264,923 บาท ซึ่งจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2537 เมื่อผิดนัดจึงต้องรับผิดต่อโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันดังกล่าวไปจนกว่าจะชำระเสร็จ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 264,923 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันที่ 8 เมษายน 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินค่าน้ำมันที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนโดยพิจารณาจากการออกปฏิบัติงานนอกสถานที่ของโจทก์เพียงอย่างเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าหน้าที่การทำงานปกติของโจทก์ต้องออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้านอกสถานที่ และโดยส่วนใหญ่โจทก์จะได้รับเงินดังกล่าวเต็มจำนวนทุกเดือน เงินดังกล่าวจำเลยจ่ายให้โจทก์ตามผลของการปฏิบัติงานของโจทก์ ก็คือการจ่ายตามผลงานนั้นเองและเงินดังกล่าวจำเลยถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน จึงเป็นค่าจ้างและจะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยนั้นเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นโต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถให้ไม่แน่นอนแล้วแต่การออกปฏิบัติงานนอก ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้กระทำผิดวินัยตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงมิชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยย่อมเห็นว่าหากโจทก์ปฏิบัติงานต่อไปโดยพนักงานที่ร่วมงานด้วยกันไม่พอใจอาจเกิดปัญหาขึ้นภายหลังได้เป็นการคาดเดาเหตุการณ์ที่ยังมิได้เกิดขึ้นมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า ในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานของจำเลย จำเลยมีข้อกำหนดหน้าที่การทำงาน พนักงานอื่นจะไม่ให้ความร่วมมือกับโจทก์ในการปฏิบัติงานไม่ได้เพราะเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อะไรที่แสดงให้เห็นว่าหากโจทก์ทำงานกับจำเลยแล้วมีอุปสรรคหรือปัญหาในการทำงาน การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงซึ่งถือเป็นยุติว่า การกระทำของจำเลยมีผลกระทบความรู้สึกของพนักงานส่วนหนึ่งที่ทราบเรื่องและไม่พอใจโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยพิจารณาเห็นว่าอาจเกิดปัญหาขึ้นภายหลังได้นั้น แม้จะเป็นการคาดเดาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดจริงก็ตาม แต่ก็เป็นการคาดการณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริงที่สืบเนื่องจากผลแห่งการกระทำของโจทก์ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นไปตามเหตุที่มีอยู่จริงและเพื่อผลในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร หาได้มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่
พิพากษายืน

Share