คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 628/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องในฐานะผู้สลักหลังตั๋วเงินไล่เบี้ยเอาจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สลักหลังด้วยกันต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้สลักหลัง หาใช่ผู้ทรงเช็คในขณะนั้น อายุความฟ้องร้องจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003 หาใช่มาตรา 1002 ไม่ และจำเลยจะถือเอาข้อความที่โจทก์เริ่มคำฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คว่าโจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่คำนึงถึงข้อความที่โจทก์กล่าวอธิบายฟ้องต่อไปอีก หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ๒ ฉบับจำนวนเงิน ๘,๑๐๐ บาท ฉบับหนึ่งอีกฉบับหนึ่งจำนวนเงิน ๑๑,๙๑๕ บาท โดยนายเซี๊ยะคิ้มเป็นผู้สั่งจ่ายและจำเลยเป็นผู้สลักหลังให้แก่โจทก์มาทั้งสองฉบับ แล้วโจทก์ได้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับนี้ใช้หนี้แก่นายเกษม สูงสว่าง ต่อไปอีก ต่อมานายเกษมแจ้งแก่โจทก์ว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้โจทก์จ่ายแทน โจทก์ติดต่อกับนายเซี๊ยะคิ้มผู้สั่งจ่ายไม่ได้ จึงชำระเงินตามเช็ค ๒๐,๐๑๕ บาทให้นายเกษมไป และได้ติดตามทวงถามจำเลยหลายครั้ง จำเลยก็เพิกเฉยเสีย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระ
จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๒
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เป็นกรณีที่ผู้สลักหลังด้วยกันฟ้องไล่เบี้ยกันเอง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๓ ซึ่งกำหนดอายุความฟ้องร้องไว้ ๖ เดือน นับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วและใช้เงิน กรณีไม่เข้ามาตรา ๑๐๐๒ ดังจำเลยต่อสู้ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงให้จำเลยชำระเงิน ๒๐,๐๑๕ บาท พร้อมด้วยค่าเสียหาย ๖๒๕ บาท และค่าเสียหายจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะถือเอาข้อความที่โจทก์เริ่มคำฟ้องว่า “โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ๒ ฉบับ” เพียงเท่านั้นว่า โจทก์ฟ้องคดีในฐานะเป็นผู้ทรงเช็ค โดยไม่คำนึงถึงข้อความที่โจทก์กล่าวอธิบายฟ้องต่อไปอีกด้วย หาถูกต้องไม่เพราะในฟ้องของโจทก์ยังได้กล่าวโดยชัดแจ้งต่อไปอีกว่า โจทก์ได้เช็คมาโดยจำเลยสลักหลังให้ แล้วโจทก์ได้สลักหลังให้แก่นายเกษมต่อไปอีก นายเกษมนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารไม่ได้ โจทก์จึงจ่ายเงินตามเช็คให้นายเกษมไปและถือเช็คไว้ไล่เบี้ย โจทก์กล่าวความในฟ้องดังนี้ ย่อมเห็นชัดดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องคดีในฐานะผู้สลักหลังไล่เบี้ยเอาจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สลักหลังด้วยกัน และต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้สลักหลัง หาใช่ผู้ทรงเช็คในขณะนั้นไม่ อายุความฟ้องร้องในคดีรูปนี้จึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๓ หาใช่มาตรา ๑๐๐๒ ไม่ คดีของโจทก์ย่อมไม่มีทางที่จะปรับว่าขาดอายุความตามมาตรา ๑๐๐๒ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share