แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยอ้างว่ามีการชำระหนี้หมดสิ้นกันแล้วแต่โจทก์ไม่ยอมคืนสัญญาโดยอ้างว่าหายนั้นมิใช่เหตุที่ทำให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากความรับผิดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653วรรคสอง ฟ้องโจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่15ตุลาคม2530จำเลยที่1ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน250,000บาทที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสองเคยกู้ยืมเงินโจทก์ไป150,000บาทต่อมาในวันที่15ตุลาคม2530จำเลยที่1มาขอกู้อีก100,000บาทรวมเป็นเงินต้นที่จำเลยที่1กู้เงินโจทก์ไปจำนวน250,000บาทเป็นการนำสืบที่มาของจำนวนเงินที่กู้เป็นเรื่องรายละเอียดของคำฟ้องโจทก์สามารถนำสืบได้หาใช้นอกฟ้องนอกประเด็นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินและรับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ 250,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2531โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินและบ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองหม้ออำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องในวันทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารท้ายฟ้อง หลังจากกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ชำระเงิน 425,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน250,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จนสิ้นเชิงหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ เดิมก่อนปี 2526จำเลยทั้งสองเคยซื้อสินค้าจากร้านของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระราคาโจทก์ก็จะให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ในแบบสัญญากู้เงินที่ยังไม่กรอกข้อความมอบให้โจทก์ไว้ทุกครั้ง เก็บเกี่ยวข้าวแล้วจำเลยทั้งสองก็จะนำเงินมาชำระให้โจทก์ ในปี 2526 จำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่คืนหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยที่ 1ลงชื่อไว้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อสินค้าโจทก์อีกเลยคงมีแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ที่ยังซื้อต่อมาจำเลยที่ 2 ค้างชำระราคาสินค้าปุ๋ยเคมีการเกษตรที่ซื้อจากโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม โจทก์จึงนำแบบหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทั้งสองลงชื่อไว้ไปกรอกข้อความโดยจำเลยทั้งสองไม่ยินยอม แล้วนำมาฟ้องจำเลยทั้งสองอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2530ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจกท์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เงินดังกล่าวแทนแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินในช่องผู้กู้และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ในช่องผู้ค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จริงคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์หรือไม่ ทั้งสองปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยรวมไปด้วยกันได้โจทก์มีตัวโจทก์และนายไสว สรรค์ประสิทธิ์ เป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เงินจำนวน 250,000 บาท โดยในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1รับเงินไปจากโจทก์ 100,000 บาท กับครั้งก่อนจำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ไป 150,000 บาท รวมเป็นเงินกู้ 250,000 บาทจำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ในช่องผู้กู้ จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้กู้และผู้เขียนนายไสวลงชื่อเป็นพยาน ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ส่วนจำเลยนั้นจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเคยกู้ยืมเงินโจทก์ และเคยซื้อสินค้าเชื่อจากร้านโจทก์ การซื้อของเชื่อหรือกู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์จะให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ในสัญญาเพียงตัวเดียว ปัจจุบันนี้จำเลยที่ 1ไม่มีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์แล้ว เมื่อทนายจำเลยเอาเอกสารหมายจ.1 ให้จำเลยที่ 1 ดู ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ตามหนังสือสัญญาดังกล่าว และหนังสือสัญญานี้จำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ตัวเดียวกว่า10 ปีแล้ว ตอนชำระหนี้ได้พูดขอคืนแล้วโจทก์บอกว่าหาย และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้หมดแล้วโจทก์ไม่ยอมคืนสัญญานั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยขอให้โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินชำระหนี้เงินกู้ให้ ทั้งไม่เคยแจ้งความว่าโจทก์ปลอมเอกสาร ส่วนจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ขณะที่ตกลงชื่อในเอกสารหมาย จ.2 ก็รู้ว่า จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์และรับว่าบ้านหลังที่ระบุในเอกสารหมาย จ.1 ว่ามอบให้โจทก์เป็นประกันนั้นมีราคาประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์พร้อมกับระบุบ้านเลขที่ 116 หมู่ 1 ตำบลหนองหม้ออำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหลักประกันลงไว้ในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 จริง โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 การที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ามีการชำระหนี้หมดสิ้นกันแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมคืนสัญญา โดยอ้างว่าหายนั้น มิใช่เหตุที่ทำให้จำเลยทั้งสองหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อวันที่15 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 250,000 บาทแต่นำสืบว่าจำเลยทั้งสองเคยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 150,000 บาทต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 1 มาขอกู้อีก 100,000 บาทรวมเป็นเงินต้นที่จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 250,000 บาทอันเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการนำสืบที่มาของจำนวนเงินที่กู้เป็นเรื่องรายละเอียดของคำฟ้อง โจทก์สามารถนำสืบได้หาใช่นอกฟ้องนอกประเด็นไม่
พิพากษายืน