แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน การบังคับตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา โดยโจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากไม่สามารถคืนได้จึงค่อยใช้ราคาแทน ระหว่างการบังคับคดีโจทก์นำเงินไปวางศาลชำระราคารถแทนพร้อมค่าเสียหายตามคำพิพากษาทั้งหมด จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่รับเงินที่วางได้ แต่จำเลยกลับขอรับเงินดังกล่าวเท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืน และถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว แม้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปแล้ว แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ดังกล่าว แม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 6 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้
ปัญหาว่าการที่จำเลยรับเงินที่โจทก์วางศาลแล้วต้องมีหน้าที่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เช่าซื้อรถยนต์กระบะจากจำเลย จำเลยจึงฟ้องโจทก์ให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาให้แก่จำเลยศาลพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่จำเลยในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาโจทก์นำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล เพราะไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลยได้ แต่จำเลยไม่โอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ หมายเลขทะเบียน บฉ – 103 เพชรบุรี ให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่จำเลยในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีก่อน หากคืนไม่ได้จึงให้ใช้ราคาแทน การที่รถยนต์ขาดต่อทะเบียนและไม่สามารถทำประกันภัยรถยนต์ได้ไม่เป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ ช. 2399/2543 ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ หมายเลขทะเบียน บฉ – 103 เพชรบุรี ที่เช่าซื้อไปคืนให้แก่จำเลยในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 50,000 บาท กับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 18,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 18,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแต่ไม่เกิน 6 เดือน ต่อมาโจทก์ได้นำเงินไปวางศาลเพื่อชำระตามคำพิพากษาจำนวน 85,342.33 บาท และบอกกล่าวให้จำเลยจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ดำเนินการให้ ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยขอรับเงินที่โจทก์วางศาลแล้ว เมื่อความดังกล่าวปรากฏขึ้นในชั้นฎีกา โดยจำเลยมิได้แก้ฎีกาปฏิเสธถึงการรับเงิน ปัญหาว่า การที่จำเลยยอมรับเงินที่โจทก์วางศาลแล้วต้องมีหน้าที่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า การบังคับคดีตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา เมื่อปรากฏว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ ช. 2399/2543 ระบุให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพากษาคืนให้แก่จำเลยในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนโจทก์ก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไปตามลำดับที่ระบุไว้ดังกล่าว โดยต้องส่งมอบรถยนต์คันพิพากษาคืนให้จำเลยเสียก่อน หากไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนได้จึงค่อยใช้ราคาแทน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าในระหว่างการบังคับคดีในคดีเดิมจำเลยได้ขอรับเงินที่โจทก์นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์นำเงินไปวางศาลเพื่อเป็นการชำระราคาแทนพร้อมค่าเสียหายตามคำพิพากษา จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่รับเงินที่โจทก์วางเพื่อชำระราคาแทนได้ แต่จำเลยก็หาได้กระทำดังกล่าวไม่โดยกลับรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ เมื่อจำเลยยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวย่อมเท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืนและถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และแม้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์จะเลิกกันไปแล้วแต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ดังกล่าวก็ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ดังกล่าวแม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 จำเลยจึงมีหน้าที่โอนทะเบียนให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน บฉ – 103 เพชรบุรี ให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ