คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ก. ลูกหนี้เงินกู้ของโจทก์ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันระหว่างบริษัท ก. และจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นโมฆะ เพราะเป็นนิติกรรมอำพรางการที่โจทก์และ ว. ตั้งจำเลยที่ 1 และบริษัท ก. เป็นตัวแทนลงทุนทำโครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดิน และฟ้องแย้งว่าโจทก์และ ว. ตัวการได้สั่งการให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าพัฒนาที่ดินโครงการจัดสรรดังกล่าวรวมเป็นเงิน 147,647,250 บาท แทนโจทก์และ ว. ไปก่อนแต่โจทก์กับ ว. ซึ่งเป็นตัวการกลับไม่ยอมชำระเงินคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว คงมีประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน แต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่า ว. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และบริษัท ก. เป็นตัวแทนโจทก์ในการลงทุนจัดทำโครงการจัดสรรและพัตนาที่ดินซึ่งโจทก์ไม่สามารถดำเนินการเองได้เพราะผิดต่อกฎหมาย ปัญหาว่าการกระทำทั้งหลายของ ว. ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวมาในฟ้องแย้งจะพูกพันโจทก์ให้ต้องรับผิดหรือไม่ในการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าได้ออกเงินค่าพัฒนาที่ดินไปก่อน เป็นค่าก่อสร้างถนนภายในโครงการ ค่าก่อสร้างถนนจากมิตราภาพเข้าโครงการและทำรั้วลวดหนามรอบโครงการ ค่าซื้อที่ดิน ค่าจ้างออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ค่าขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ปลูกต้นไม้ ก่อสร้างสำนักงานขาย ขุดสระน้ำ นำไฟฟ้าแรงสูงและระบบไฟฟ้าเข้าใช้ในโครงการ การก่อสร้างคอนโดมิเนียม ไทม์ แชร์ริ่ง หรือคอนโดเทล ค่าแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อย ค่าการตลาดและบริหารการขาย กรมสวัสดิการกองทัพบอก ค่าใช้จ่ายในการขาย การบริหารและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดนั้นล้วนแต่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่อันเป็นคนละเรื่องคนละมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารับผิดร่วมกับบริษัทกรีน วู๊ด ไฮเทค การ์เด้นรีสอร์ท จำกัด โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดเป็นเงินจำนวน 311,653,140.20 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดคนละ 24,239,688.58 บาท จำเลยที่ 4 รับผิด 45,016,564.57 บาท และจำเลยที่ 5 รับผิด 242,396,886.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 228,103,790.67 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 ของต้นเงิน 17,741,405.93 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ของต้นเงิน 32,948,325.30 บาท สำหรับจำเลยที่ 4 และของต้นเงิน 177,414,059.40 บาท สำหรับจำเลยที่ 5 ทั้งนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และหากค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้นำดอกเบี้ยนั้นทบเข้าเป็นต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ในอัตราเดียวกันเช่นนี้ตลอดไป
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชดใช้เงินจำนวน 147,647,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปด้วยกันหรือไม่ แต่กลับวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่า ฟ้องแย้งนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม หากเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากคำฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 ฟ้องมาในคำให้การไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมคำฟ้องนั้นก็มิใช่ฟ้องแย้ง แม้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องนั้นไว้เป็นฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งนั้นก็เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้ศาล่ชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำให้การจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ทั้งหมด จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฟ้องแย้งโดยอ้างว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม การที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์ได้ เป็นเรื่องที่นายวานิชกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 โดยลำพังตนเอง โจทก์หามีผลต้องผูกพันต่อจำเลยที่ 1 กับพวกในกิจการทั้งหลายที่นายวานิชได้กระทำไปเกินขอบอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820 และมาตรา 823 วรรคหนึ่ง แล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การจะวินิจฉัยดังกล่าวได้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมก่อน หากเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมศาลต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นคดีต่างหากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัทกรีน วู้ด ไฮเทค การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด ลูกหนี้เงินกู้ของโจทก์รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ให้การว่าสัญญากู้ยืนเงิน สัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันระหว่างบริษัทกรีน วู้ด ไฮเทค การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด และจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นโมฆะเพราะสัญญาทุกฉบับดังกล่าวเกิดจากการสั่งการ การควบคุมหรือดำเนินการ จัดการ และการอนุมัติของนายวานิช ไชยวรรณ ที่กระทำการแทนโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และบริษัทกรีน วู้ด ไฮเทค การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด ก็เป็นตัวแทนของนายวานิชในการทำสัญญาดังกล่าวเช่นกัน สัญญาทุกฉบับดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอำพรางการที่โจทก์และนายวานิชตั้งจำเลยที่ 1 และบริษัทกรีน วู้ด ไฮเทค การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด เป็นตัวแทนลงทุนทำโครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดิน และฟ้องแย้งว่า โจทก์และนายวานิชตัวการได้สั่งการให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าพัฒนาที่ดินโครงการจัดสรรดังกล่าวรวมเป็นเงิน 147,647,250 บาท แทนโจทก์และนายวานิชไปก่อน แต่โจทก์กับนายวานิชซึ่งเป็นตัวการกลับไม่ยอมชำระคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว คงมีประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว คงมีประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันแต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่า นายวานิชกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และบริษัทกรีน วู้ด ไฮเทค การ์เด้น รีสอร์ท จำกัด เป็นต้วแทนโจทก์ในการลงทุนจัดทำโครงการจัดสรรและพัตนาที่ดินซึ่งโจทก์ไม่สามารถดำเนินการเองได้เพราะผิดต่อกฎหมาย เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายวานิช แม้นายวานิชจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ก็เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งต้องกระทำในขอบอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820 และมาตรา 823 และมาตรา 823 วรรคหนึ่ง จึงจะผูกพันโจทก์ ปัญหาว่าการกระทำทั้งหลายของนายวานิชตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวมาในฟ้องแย้งจะผูกพันโจทก์ให้ต้องรับผิดหรือไม่ในการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าได้ออกเงินค่าพัตนาที่ดินไปก่อน เป็นค่าก่อสร้างถนนภายในโครงการ ค่าก่อสร้างถนนจากถนนมิตรภาพเข้าโครงการและทำรั้วลวดหนามรอบโครงการ ค่าซื้อที่ดิน ค่าจ้างออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ค่าขุดเจาะบ่อบาดาล ปลูกต้นไม้ ก่อสร้างสำนักงานขาย ขุดสระน้ำ นำไฟฟ้าแรงสูงและระบบไฟฟ้าเข้าในโครงการ การก่อสร้างคอนโดมิเนียม ไทม์ แชร์ริ่ง หรือคอนโดเทล ค่าแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อย ค่าการตลาดและบริหารการขาย กรมสัวสดิการกองทัพบก ค่าใช้จ่ายในการขายการบริหาร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดนั้น ล้วนแต่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่อันเป็นคนละเรื่องคนละมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ปัญหาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share