แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายแก่ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายอื่นของจำเลย แก่ธนาคารสาขาของจำเลย บริษัทในเครือของจำเลย และแก่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในธุรกิจการธนาคารปกติของจำเลย งานของโจทก์เป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้ดุลพินิจได้รัดกุม ถูกต้อง มีคุณภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์จะสามารถแสดงความคิดเห็นให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระตามความรู้ความสามารถในวิชาชีพกฎหมายของโจทก์โดยไม่จำต้องมีผู้บังคับบัญชาคอยควบคุมสั่งการ และลงเวลาเข้าทำงาน แต่โจทก์ก็ต้องเข้าปฏิบัติงานในที่ทำงานของจำเลยพร้อมที่จะทำหน้าที่เมื่อมีคำปรึกษาหารือเข้ามา ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยและอยู่ใต้บังคับบัญชาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษ เงินรางวัล เงินบำเหน็จหรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานอื่นได้รับ แต่โจทก์ก็ได้รับเงินค่าตอบแทนตามสัญญาเป็นรายเดือน การลากิจลาป่วยก็ต้องรายงานต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ไม่สามารถหยุดงานได้ตามอำเภอใจของโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ 12 ฉบับ ระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับแรกถึงฉบับที่ 10 มีระยะเวลาฉบับละ 1 ปี โดยสัญญาฉบับแรกนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 ครบสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2537 และฉบับต่อ ๆ มาเริ่มระยะเวลาต่อเนื่องกันไปถึงฉบับที่ 10 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2546 ฉบับที่ 11 เริ่มสัญญาต่อเนื่องไปมีกำหนด 1 เดือน และฉบับที่ 12 มีกำหนด 2 เดือน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2546 รวมระยะเวลาตามสัญญา 10 ปี 3 เดือน แต่งานที่โจทก์ทำเป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยสามารถใช้ดุลพินิจได้ถูกต้อง รัดกุม มีคุณภาพ และป้องกันความเสียหาย โดยโจทก์มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายในการปฏิบัติงานปกติของธุรกิจการธนาคารของจำเลยหรือบริษัทในเครือทั้งสิ้น จึงมิใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไว้ในสัญญา แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างไว้และเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลานั้น ก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยทั้ง 12 ฉบับ มีสาระสำคัญของสัญญาเป็นอย่างเดียวกัน งานที่ทำมีลักษณะอย่างเดียวกัน สัญญาที่ทำมีระยะเวลาต่อเนื่องกันไป จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องติดต่อกันไป โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาท ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 1,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นวันเลิกจ้าง ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งกิจการทั้งปวงซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการธนาคารพาณิชย์ การดำเนินธุรกิจของจำเลยต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีความละเอียดและยุ่งยากมากมาย โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายแก่ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายอื่นของจำเลยแก่ธนาคารสาขาของจำเลย บริษัทในเครือของจำเลย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในธุรกิจการธนาคารปกติของจำเลย งานของโจทก์เป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้ดุลพินิจได้รัดกุม ถูกต้อง มีคุณภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายงานของโจทก์แม้โจทก์จะสามารถแสดงความคิดเห็น ให้คำปรึกษา แนะนำ และข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระตามความรู้ความสามารถในวิชาชีพกฎหมายของโจทก์ โดยไม่จำต้องมีผู้บังคับบัญชาคอยควบคุมสั่งการ และลงเวลาเข้าทำงาน แต่โจทก์ก็ต้องเข้าปฏิบัติงานในที่ทำงานของจำเลย พร้อมที่จะทำหน้าที่เมื่อมีคำปรึกษาหารือเข้ามา ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยและอยู่ใต้บังคับบัญชาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษ เงินรางวัล เงินบำเหน็จ หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานอื่นได้รับ แต่โจทก์ก็ได้รับเงินค่าตอบแทนตามสัญญาเป็นรายเดือน การลากิจ ลาป่วย ก็ต้องรายงานต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ไม่สามารถหยุดงานได้ตามอำเภอใจของโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการที่สองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เพียงใด ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ 12 ฉบับ ระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับแรกถึงฉบับที่ 10 มีระยะเวลาฉบับละ 1 ปี โดยสัญญาฉบับแรกนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 ครบสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2537 และฉบับต่อ ๆ มา เริ่มระยะเวลาต่อเนื่องกันไปถึงฉบับที่ 10 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2546 ฉบับที่ 11 เริ่มสัญญาต่อเนื่องไปมีกำหนด 1 เดือน และฉบับที่ 12 มีกำหนด 2 เดือน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2546 รวมระยะเวลาตามสัญญา 10 ปี 3 เดือน ที่จำเลยอุทธรณ์ว่างานที่โจทก์ทำเป็นงานที่ปรึกษากฎหมาย มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย แต่เป็นงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวที่กำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไว้ในสัญญา และเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่างานที่โจทก์ทำเป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยสามารถใช้ดุลพินิจได้ถูกต้อง รัดกุม มีคุณภาพ และป้องกันความเสียหาย โดยโจทก์มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายในการปฏิบัติงานปกติของธุรกิจการธนาคารของจำเลย หรือของบริษัทในเครือทั้งสิ้น จึงมิใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานตามที่จำเลยอุทธรณ์ แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างไว้และเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลานั้น ก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยทั้ง 12 ฉบับ มีสาระสำคัญของสัญญาเป็นอย่างเดียวกัน งานที่ทำมีลักษณะอย่างเดียวกัน สัญญาที่ทำมีระยะเวลาต่อเนื่องกันไป จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องติดต่อกันไป โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาท ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 1,000,000 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นวันเลิกจ้าง ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน.