แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของรถยนต์จะรับผิดหรือร่วมรับผิดในผลแห่ง การละเมิดต้องเป็นกรณีที่เจ้าของรถยนต์เป็นผู้กระทำละเมิดคือเป็นผู้ขับด้วยตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีเจ้าของรถยนต์ ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิดต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุโดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วยตามมาตรา 425,427 และ 437 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของ รถยนต์คันเกิดเหตุแต่ยังมิได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในฐานะใดอันเป็นประเด็นสำคัญในคดี ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้และศาลอุทธรณ์ก็ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยที่ 4จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1)(3),247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน45,693.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 43,982.74 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 เหตุไม่ได้เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เพราะผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 4 ขับรถพุ่งชนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ ทำให้รถยนต์กระเด็นไปกระแทกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า เหตุที่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกชนไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 83-1729 กรุงเทพมหานคร และผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 83-1729 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 4 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 มิได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะเกิดเหตุนางเชาวรัตน์ไม่ได้มีส่วนได้เสียในรถยนต์หมายเลขทะเบียน6ณ-9566 กรุงเทพมหานคร ที่ได้ประกันภัยไว้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน45,693.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 43,892.74 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า กำหนดค่าทนายความให้2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งและมาตรา 248 วรรคหนึ่ง คงอุทธรณ์และฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนโดยชอบด้วยกฎหมายของศาลชั้นต้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 4 ชนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1ขับกระเด็นไปชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ รถยนต์คันดังกล่าวจึงพุ่งไปชนรถยนต์คันหน้าซึ่งจอดอยู่ แสดงว่ารถยนต์ของจำเลยที่ 4ขับมาด้วยความเร็วและมิได้เว้นระยะห่างพอที่จะหยุดรถได้ทันเมื่อรถยนต์คันหน้าชะลอความเร็วและหยุดรถ จึงฟังได้ว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าของรถยนต์จึงมีหน้าที่ชำระค่าเสียหายตามจำนวนเงินค่าซ่อมรถยนต์ที่โจทก์ชำระไป
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 มีว่า ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ชอบหรือไม่เห็นว่า เจ้าของรถยนต์จะรับผิดหรือร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดต้องเป็นกรณีที่เจ้าของรถยนต์เป็นผู้กระทำละเมิดคือเป็นผู้ขับด้วยตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 437 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีเจ้าของรถยนต์ต้องร่วมรับผิดกับบุคคลอื่นในผลแห่งการละเมิดต้องเป็นกรณีผู้กระทำละเมิดเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของรถยนต์ หรือเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ขณะเกิดเหตุ โดยเจ้าของรถยนต์โดยสารไปด้วย ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425, 427 และ 437 คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุเท่านั้นแต่ยังมิได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในฐานะใด อันเป็นประเด็นสำคัญในคดีซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ และศาลอุทธรณ์ก็ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และปัญหานี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 4 จึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)(3), 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 4ทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่