แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้วผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด จะฎีกาต่อมาอีกไม่ได้.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังจำเลยทั้งสองไว้ในระหว่างอุทธรณ์ผู้ประกันขอประกันตัวจำเลยทั้งสองไปในระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นตีราคาประกันคนละ250,000 บาท ต่อมาผู้ประกันส่งตัวจำเลยทั้งสองเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกัน หลังจากนั้นผู้ประกันนำตัวจำเลยทั้งสองมาส่งศาลและยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลดค่าปรับให้เหลือปรับคนละ 100,000 บาท
ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ประกันทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ประกันทั้งสองยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 5กันยายน 2533 ภายหลังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4 ใช้บังคับแล้วมาตรา 119 ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันตามที่ศาลเห็นสมควรโดยที่มิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้นในกรณีนี้จึงฎีกาต่อมาอีกไม่ได้ เพราะคดีได้ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาผู้ประกันทั้งสอง.