คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การนัดหยุดงานของผู้คัดค้านในระหว่างที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างกำลังปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมอยู่ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 34(2) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หลังจากที่ได้หยุดงานแล้ว สหภาพแรงงานกับผู้ร้องตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ โดยผู้ร้องตกลงไม่กลั่นแกล้งพนักงานทุกคนที่นัดหยุดงาน อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือได้ว่าผู้ร้องจะไม่เอาเหตุที่ผู้คัดค้านได้นัดหยุดงานนั้นเป็นเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้าน ดังนี้ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางบังอร แสงงาม นางสาวดาวเรืองพิชิตกุญชร นางสมควร พูนสิน นางสาวณัฐกาล ขันธพัฒน์ นางสาวอนงค์แพงพรมมา นางสาวนิด ภาคเพียร นางทุเรียน สนธิพร นางชูชีพ ภาคีอรรถนางใจฝัน สินธุไชย นางปานทิพย์ ทองเปลว และนางเพลินพิศจินดาวรรณ ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างได้ทำผิดพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยร่วมกันและกระทำการยุยง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกจ้างอื่นละทิ้งหน้าที่เกิน3 วันทำงาน โดยนัดหยุดงานในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลบังคับใช้อยู่ จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรง ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างทั้งสิบเอ็ดคนดังกล่าวโดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรรมการลูกจ้างทั้งสิบเอ็ดยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดเป็นกรรมการลูกจ้างเป็นสมาชิกและกรรมการของสหภาพแรงงานชินวัตรแฟชั่นเฮ้าส์ สหภาพแรงงานชินวัตรแฟชั่นเฮ้าส์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องและมีการเจรจากันสามครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานชินวัตรแฟชั่นเฮ้าส์จึงยื่นข้อพิพาทแรงงานต่อแรงงานจังหวัดปทุมธานี (ที่ถูกแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ) เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดปทุมธานี ไกล่เกลี่ยโดยมีการเจรจากันสองครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สหภาพแรงงานชินวัตรแฟชั่นเฮ้าส์จึงแจ้งนัดหยุดงานผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดมิได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และมิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องผู้ร้องและสหภาพแรงงานชินวัตรแฟชั่นเฮ้าส์ได้ตกลงกันเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ว่า ผู้ร้องจะไม่กลั่นแกล้งลูกจ้างที่นัดหยุดงานครั้งนี้ การที่ผู้ร้องมาขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านคดีนี้ เป็นการกระทำที่ขัดกับข้อตกลงดังกล่าว
ประเด็นข้อพิพาทมีว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดตามคำร้องหรือไม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานแฟชั่นเฮ้าส์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก่อนที่สัญญาจ้างจะหมดอายุลง ผู้ร้องกับผู้แทนสหภาพแรงงานแฟชั่นเฮ้าส์ได้เจรจากัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงได้จัดการแจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดปทุมธานีช่วยไกล่เกลี่ย แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ผู้แทนสหภาพแรงงานแฟชั่นเฮ้าส์จึงได้แจ้งนัดหยุดงานต่อผู้ร้องและหัวหน้าสำนักงานแรงงานจังหวัดปทุมธานีแล้วจึงได้นัดหยุดงาน ได้เจรจากันใหม่อีก คราวนี้ตกลงกันได้ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ หลังจากนั้นผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดและลูกจ้างของผู้ร้องก็กลับเข้าทำงานตามปกติ ซึ่งเห็นได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานแฟชั่นเฮ้าส์จึงชอบด้วยกฎหมายไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ลูกจ้างละทิ้งงานโดยนัดหยุดงาน ขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 34(2) เมื่อฟังว่าการนัดหยุดงานของผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดและลูกจ้างของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดหยุดงาน จึงไม่เป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่เกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกัน และไม่ถือว่าเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ไม่อนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ด ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดนัดหยุดงานแม้จะได้ดำเนินการเจรจากันและพนักงานประนอมข้อพิพาทได้ไกล่เกลี่ยแล้วไม่อาจตกลงกันได้สหภาพแรงงานแฟชั่นเฮ้าส์จึงมีหนังสือแจ้งการจะนัดหยุดงานให้ผู้ร้องและพนักงานประนอมข้อพิพาททราบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ด และลูกจ้างของผู้ร้องจึงได้นัดหยุดงานซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมายก็ตามแต่ก็เป็นการนัดหยุดงานในระหว่างที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างกำลังปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอยู่ การนัดหยุดงานนั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34(2) การนัดหยุดงานของผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้หยุดงานแล้วต่อมาสหภาพแรงงานแฟชั่นเฮ้าส์กับผู้ร้องได้เจรจากันในที่สุดตกลงกันได้และทำข้อตกลงกันใหม่ ตามเอกสารหมายร.12 โดยมีข้อตกลงกันด้วยว่าผู้ร้องตกลงไม่กลั่นแกล้งพนักงานทุกคนที่นัดหยุดงานครั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ อันถือได้ว่าผู้ร้องจะไม่ถือเอาเหตุที่ผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้กระทำในคราวที่มีการนัดหยุดงานครั้งนั้น เป็นเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุสมควรจะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดได้ ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบเอ็ดและมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share