คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6207/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายเกินประมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและขายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 6(7 ทวิ) 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ ซึ่งความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย และขายเมทแอมเฟตามีนมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำหนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ และถ้าศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ก็ตาม ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลยเมื่อปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานแล้วให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาและต่อมาได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟัง โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ คงเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในสถานหนักเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน เช่นนี้ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายเมทแอมเฟตามีน และศาลอุทธรณ์ก็ยังคงพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ถูกต้องปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่อย่างไรก็ดี สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องโจทก์นั้น ย่อมรวมถึงความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนโดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา 62 วรรคหนึ่ง และมาตรา 106 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทและโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยและอ้างบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในฟ้องแล้ว ความผิดฐานนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท ๒ บรรจุในหลอดกาแฟ หลอดละ ๒ เม็ดจำนวน ๓๕ หลอด รวมทั้งสิ้นจำนวน ๗๐ เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์น้ำหนักรวม๑.๒๔๔ กรัม และเป็นการมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณ ๐.๕๐๐ กรัม ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดไว้ตามมาตรา ๖ (๗ ทวิ) แล้วจำเลยขายเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท ๒ดังกล่าวจำนวน ๖๐ เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคาเม็ดละ ๕๐ บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่ขาย ๓,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๖ (๗ ทวิ) ๗, ๑๓ ทวิ ๖๒, ๘๙, ๑๐๖,๑๐๖ ทวิ ๑๑๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑ และริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๖ (๗ ทวิ) ๗, ๑๓ ทวิ(ที่ถูก ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง) ๖๒ (ที่ถูก ๖๒ วรรคหนึ่ง) ๘๙, ๑๐๖ (ที่ถูก ๑๐๖วรรคหนึ่ง) ๑๐๖ ทวิ ๑๑๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑ เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพสิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิด รายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกอบคำแถลงของผู้ปกครองจำเลยแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ ๑๗ ปีเศษ จำเลยเพิ่งกระทำผิดเป็นครั้งแรก ผู้ปกครองจำเลยยังห่วงใย เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นคนดี อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ กับอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมาตรา ๑๐๖ ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด ๑ ปี และริบของกลาง ให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด ๒ ปี โดยวางเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติดังนี้
(๑) ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือนต่อครั้ง
(๒) ระหว่างคุมประพฤติห้ามจำเลยเกี่ยวข้องยาเสพติดและสิ่งมึนเมาทุกชนิด ห้ามคบสมาคมกับบุคคลความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาลและห้ามเล่นการพนัน
(๓) ให้จำเลยเข้าศึกษาต่อและให้จำเลยตั้งใจศึกษาโดยให้นำหลักฐานการเข้าศึกษาหรือหลักฐานการติดต่อเพื่อเข้าศึกษาและผลการศึกษามาแสดงต่อพนักงานคุมประพฤติทุกครั้งที่มารายงานตัวด้วยและให้ทำงานเป็นกิจจะลักษณะ
(๔) ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐ ชั่วโมง หรือเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์หรือเพื่อการศึกษาอบรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ตามที่ศาลและพนักงานคุมประพฤติจะกำหนดต่อไป
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนัก
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑และจำเลยอายุ ๑๗ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๖ แล้ว ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนด จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน ฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ จำคุก๒ ปี ๖ เดือน รวมจำคุก ๕ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๗๘ เป็นจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดเวลาขั้นต่ำ ๑ ปี ขั้นสูง ๑ ปี ๖ เดือน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๔,๑๐๕ ยังไม่ต้องคุมประพฤติในชั้นนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายเกินประมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและขายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖(๗ ทวิ) ๑๓ ทวิ ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๐๖ ทวิ ซึ่งความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายฯ และขายเมทแอมเฟตามีนมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง แม้จำเลยมีอายุ ๑๗ ปีเศษ และถ้าศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ ก็ตาม ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย เมื่อปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานแล้วให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาและต่อมาได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟัง โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ คงเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ลงโทษจำเลยในสถานหนักเท่านั้น ถือได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวจริง เช่นนี้ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายฯ และขายเมทแอมเฟตามีน และศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ก็ยังคงพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ถูกต้องปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕ แต่อย่างไรก็ดีสำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขายฯ เมทแอมเฟตามีนตามฟ้องโจทก์นั้นย่อมรวมถึงความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนโดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา ๖๒วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๐๖ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยและอ้างบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในฟ้องแล้ว ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองมาด้วย ความผิดฐานนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อขาย ฯ และขายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา ๖ (๗ ทวิ) ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง ๖๒ วรรคหนึ่ง๘๙, ๑๐๖ ทวิ คงลงโทษจำเลยฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง ๑๐๖วรรคหนึ่ง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ ๑๗ ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ แล้วจำคุก ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เป็นจำคุก ๓ เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมและฝึกอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๔, ๑๐๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share