แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนและขัดแย้งกับพยานเอกสารดังกล่าว ทำให้น่าสงสัยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ จึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นดังที่พยานโจทก์เบิกความ ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสองให้การ รับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนั้น ก็มีความสงสัยว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยสมัครใจหรือ รับสารภาพเพราะถูกขู่บังคับและถูกทำร้าย เมื่อฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยสมัครใจก็ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และได้ความว่าจำเลยทั้งสองไม่มีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ศาลชั้นต้นพิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๓๘ ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
และจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ไม่ได้กระทำผิดตามโจทก์ฟ้องนั้น โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประทวน พวงจำปา และสิบตำรวจตรีทวีศักดิ์ วงศ์โกษฐ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองมาเบิกความเป็นพยาน เห็นว่า คำให้การของร้อยตำรวจเอกประทวนแตกต่างกับคำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนฉบับแรกที่ได้ให้การไว้และข้อความที่ระบุไว้ในหลักฐานการตรวจรับยาเสพติดให้โทษและรายงานผลการตรวจพิสูจน์เบื้องต้นนั้นแตกต่างกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งเรื่องจำนวน และลักษณะของเมทแอมเฟตามีน ตลอดจนวัตถุที่ใช้บรรจุเมทแอมเฟตามีน ดังนั้นการที่พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนและขัดแย้งกับพยานเอกสารดังกล่าวทำให้น่าสงสัยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ จึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นดังที่ร้อยตำรวจเอกประทวนและสิบตำรวจตรีทวีศักดิ์ เบิกความ ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนนั้น จำเลยทั้งสองอ้างว่าเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมทำร้ายจำเลยที่ ๒ จนจำเลยที่ ๒ ต้องยอมให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถูกขู่บังคับว่าถ้าไม่รับสารภาพก็จะโดนทำร้ายเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงต้องยอมให้การรับสารภาพ ทำให้มีความสงสัยว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยสมัครใจหรือรับสารภาพเพราะถูกขู่บังคับและถูกทำร้าย เมื่อฟังไม่ได้ แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยสมัครใจก็ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ และร้อยตำรวจเอกประทวนยังตอบทนายความจำเลยที่ ๑ ถามค้านได้ความว่า จำเลยทั้งสองไม่มีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จากเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้แน่ชัด และมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลย ทั้งสองได้ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคสอง
ส่วนข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ เดือนและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและข้อหาดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ ๒ ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงเป็นข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรเช่นเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำผิดฐานนี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ ๒
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางให้ริบ