คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินทั้ง 2 แปลง ที่โจทก์ขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่บนเกาะ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงฉบับที่ 43(พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) มีใบจอง ใบเหยียบย่ำหนังสือรับรองการทำประโยชน์โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า”ได้ทำประโยชน์แล้ว” อย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดงหรือโจทก์ต้องเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว แต่โจทก์หาได้มีหลักฐานดังกล่าว หรือหาได้เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 2 แปลง สืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลที่ดิน พ.ศ. 2497 ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน และเป็นกรณีที่มิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 อันอาจทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินได้เป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าที่ดินประเภทใด จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอยู่ในบังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43(พ.ศ. 2537) ด้วย เมื่อปรากฏว่าที่พิพาททั้ง 2 แปลงเป็นที่เกาะและมิได้เป็นประเภทที่ดินซึ่งสามารถจะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้ง 2 แปลง ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของครอบครองและทำประโยชน์ที่ดิน 2 แปลง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้จังหวัดภูเก็ต โดยครอบครองต่อเนื่องจากพ่อตาของโจทก์ซึ่งครอบครองมาตั้งแต่ประมาณปี 2479 จนปัจจุบันแต่มิได้แจ้งการครอบครองที่ดินภายใน 180 วัน นับแต่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2539 โจทก์ได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดิน 2 แปลง ดังกล่าวต่อจำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอกะทู้ แต่จำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้ อ้างว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเป็นเกาะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537)หมวด 3 ข้อ 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจได้มาซึ่งหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ขาดประโยชน์ที่ควรได้ตามกฎหมาย คิดเป็นเงินเดือนละ 30,000 บาทขอให้บังคับจำเลยหรือผู้ทำหน้าที่นายอำเภอกระทู้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยหรือผู้ทำหน้าที่นายอำเภอกะทู้ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า คำสั่งของจำเลยที่ไม่รับออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยยอมรับกันว่า ที่พิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินตั้งอยู่บนเกาะภูเก็ต โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อจากนายหรีม หมาดหลาย พ่อตาของโจทก์เมื่อปี2505 โดยนายหรีมได้ครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2479 แต่ที่พิพาทไม่ได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และไม่มีใบจองใบเหยียบย่ำ โฉนดตราจองว่าได้ทำประโยชน์แล้ว มีเพียงหลักฐานในเสียภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งเริ่มเสียมาตั้งแต่ปี 2479 จนถึงปี2537 แต่ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่บางส่วนได้เสียหายไปเพราะถูกไฟไหม้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้มีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทหรือไม่เห็นว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497หมวด 2 ว่าด้วยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ข้อ 5 กำหนดว่า”ที่ดินที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14″ และในหมวด 3 ว่าด้วยโฉนดที่ดิน ข้อ 14 กำหนดว่า “ที่ดินที่จะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังต่อไปนี้(1)….(2)….(3) ที่เกาะ แต่ไม่รวมถึงที่ดินของผู้ซึ่งมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า”ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินทั้ง 2 แปลง ที่โจทก์ขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่บนเกาะ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” อย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดง หรือโจทก์ต้องเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยจัดที่ดินเพื่อการครอบครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีโจทก์หาได้มีหลักฐานดังกล่าว หรือหาได้เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 2 แปลง สืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน และเป็นกรณีที่มิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 อันอาจทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินได้เป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าที่ดินประเภทใดจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงฉบับที่ 43(พ.ศ. 2537) ด้วย เมื่อปรากฏว่าที่พิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่เกาะและมิได้เป็นประเภทที่ดินซึ่งสามารถจะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้ง 2 แปลงของโจทก์
พิพากษายืน

Share