คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6189/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องมีใจความว่า ทางเดินพื้นคอนกรีตที่ได้ขยายขึ้นใหม่เพื่อเป็นทางคนและรถยนต์ผ่านเข้าออกระหว่างตัวบ้านกับถนนอรุณอัมรินทร์ภายในเส้นสีเขียวตามคำฟ้องข้อ 3 แผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 4ซึ่งเกิดขึ้นตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยทั้งสองนั้น บัดนี้ได้ใช้ร่วมกันตลอดมาเป็นเวลาเกินสิบปีแล้วโจทก์จึงได้ภารจำยอมทางเดินพิพาทโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้วนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วและเป็นประเด็นที่ยกขึ้นใหม่จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิม คำร้องขอเพิ่มเติม ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 แม้ในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ศ.ดำเนินคดีแทนโจทก์ จะไม่มีคำว่า ทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นก็ตาม แต่หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวได้ระบุให้ ศ.มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งกับจำเลย ในกรณีที่จำเลยปิดประตูเหล็กห้ามมิให้โจทก์ใช้ที่ดินเป็นทางไปสู่ที่ดินและบ้านของโจทก์อันหมายถึงปิดทางในที่ดินพิพาท ซึ่งอาจจะเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นก็ได้แล้วแต่กรณี การฟ้องคดีตามคำฟ้องของ ศ. เป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตของการมอบอำนาจของโจทก์ บิดาโจทก์เจ้าของที่ดินโฉนดที่ 3064 เดิม และ ส.เจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2670 ได้สละที่ดินซึ่งคั่นกลางระหว่างที่ดินโจทก์กับจำเลยทั้งสองในปัจจุบันให้เป็นทางเดินร่วมกันเพื่อออกไปสู่ถนน ตั้งแต่ปี 2463 แล้ว จากนั้นบิดาโจทก์โจทก์ ญาติพี่น้องพร้อมทั้งบริวารได้ทางเดินดังกล่าวโดยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้สิทธิภารจำยอมติดต่อกันมาเกินสิบปี โดยไม่มีผู้ใดทักท้วง เป็นการที่โจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทโดยปรปักษ์ มิใช่โดยถือวิสาสะทางพิพาทจึงเป็นทางภารจำยอม แม้ทางในกรอบสีเขียวที่โจทก์อ้างว่าก่อนตั้งขึ้นโดยสัญญา ระหว่างโจทก์กับ ป. บิดาจำเลยจะมีอยู่ก็ตาม แต่ตามนิติกรรมการก่อตั้งมิได้มีระยะเวลากำหนดไว้ให้ใช้ได้นานเพียงใด ฉะนั้นคู่กรณีหรือผู้รับโอนสิทธิต่อมาย่อมจะยกเลิกเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยซึ่งรับโอนสิทธิและหน้าที่จากป.ไปปิดประตูเหล็กกั้นมิให้โจทก์และบริวารเข้าออกไปสู่ถนนสาธารณะ แสดงว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญาก่อตั้งทางภารจำยอมดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนสิทธิการได้มาทั้งยังมิได้สิทธิโดยอายุความ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในกรอบสีเขียวได้อีกต่อไป โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายให้แก่ป. บิดาจำเลยในการก่อสร้างทำพื้นคอนกรีตโรงรถกับประตูเหล็กเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าก่อสร้างเพื่อให้สิ่งปลูกสร้างมีความมั่นคงถาวรเป็นประโยชน์แก่การใช้ทรัพย์ของโจทก์มิใช่ช่วยออกเงินโดยเจตนาเป็นเจ้าของในทรัพย์นั้นโจทก์จึงไม่มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในพื้นคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า สิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นส่วนควบกับที่ดินโจทก์และ ป. โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นเป็นข้อที่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เป็นประเด็นที่ได้ยกขึ้นมาโดยชอบในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายศิริ อาบทิพย์ ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 8079 และโฉนดที่ 3164 ที่ดินต่อต่อกันและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 635/2 และเลขที่ 635ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2670 ประมาณ 148 ตารางวา โดยได้รับมรดกจากนายประภัศร์ ดิษยนันทน์ บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายประภัศร์ ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงและที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ติดต่อกัน เดิมที่ดินโจทก์และที่ดินของจำเลยทั้งสองกับบุคคลอื่นอีก 2 แปลง เป็นที่ดินแปลงเดียวกันมีชื่อนางแสง ดิษยนันทน์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดเลขที่โฉนดที่ 2670 ที่ดินด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอรุณอัมรินทร์ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ต่อมาปี 2463 มีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 2670ออกเป็น 2 แปลง เมื่อแบ่งแยกที่ดินแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดที่ 3164 ไม่สามารถออกสู่ถนนอรุณอัมรินทร์ได้ นางแสง กับหลวงลิขิตปรีชาเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงจึงตกลงสร้างทางภารจำยอมขึ้นตรงแนวเขตที่ดินที่แบ่งแยกโดยต่างสละที่ดินของตนให้เป็นทางเดินใช้ร่วมกันเพื่อเข้าออกสู่ถนนอรุณอัมรินทร์ทางเดินนี้มีความยาวตลอดแนวเขตติดต่อของที่ดินทั้งสองแปลงจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกจนจรดถนนอรุณอัมรินทร์โดยเริ่มต้นจากสุดเขตของที่ดินทั้งสองแปลงด้านทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกจนถึงหลักเขตที่ดินหมายเลข 84166ของโฉนดเลขที่ดินที่ 3164 กว้างประมาณ 1.40 เมตร ส่วนต่อไปทางทิศตะวันออกจนจรดถนนอรุณอัมรินทร์ ความกว้างประมาณ 2.50 เมตรแต่เฉพาะตรงปากทางที่จรดถนนอรุณอัมรินทร์มีความกว้าง 2 เมตรทางด้านกล่าวโจทก์กับผู้อื่นใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี ต่อมาปี 2526 ได้เปลี่ยนแปลงขยายทางเฉพาะด้านหน้าคือส่วนที่มีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร และ 2 เมตร ให้กว้างขึ้นไปอีกและใช้ติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทางดังกล่าวจึงเป็นทางภารจำยอมสำหรับที่ดินโจทก์โฉนดที่ 3164 ต่อมาที่ดินโฉนดที่ 2670 ตกทอดเป็นของนายประภัศร์บิดาของจำเลยทั้งสอง ส่วนที่ดินโฉนดที่ 3164 มีการแบ่งแยกออกเป็น4 แปลง คือโฉนดที่ 8079 และโฉนดที่ 3164 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์กับที่ดินอีก 2 แปลง คือโฉนดที่ 2449 และโฉนดที่ 2448 เมื่อปี 2526นายประภัศร์เจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2670 ต้องการขยายทางส่วนหน้าซึ่งกว้างประมาณ 2.50 เมตร และ 2 เมตร ให้กว้างเต็มเนื้อที่โฉนดที่ดินส่วนที่จรดถนนอรุณอัมรินทร์ให้รถยนต์เข้าออกได้เพื่อประโยชน์ทางการค้าของบริษัทมาย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยนายหยาดศิลป์ หรือวัชรพงศ์ รามสูต สามีจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 2ร่วมดำเนินธุรกิจในบริษัทดังกล่าว ในการขยายทางกว้างขึ้นนายประภัศร์ได้เชิดนายหยาดศิลป์เป็นตัวแทนของตนตกลงกับโจทก์ให้ช่วยออกเงินและปรับปรุงขยายทางเทเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสร้างอาคารโรงรถ กับประตูเหล็กตรงปากทางที่ดินที่จรดถนนอรุณอัมรินทร์พื้นที่ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนหนึ่งอยู่เขตที่ดินโจทก์ อาคารโรงรถมีโจทก์กับนายประภัศร์เป็นผู้ออกเงินร่วมกันชำระค่าก่อสร้างพื้นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารโรงรถ และประตูเหล็กโดยโจทก์ออกเงินช่วยค่าก่อสร้าง 15,000 บาท ต่อมาโจทก์เพิ่มเงินให้อีก 3,000 บาท กับได้ตกลงร่วมกันก่อสร้างพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กอาคารโรงรถประตูเหล็กเพื่อให้รถยนต์ทั้งสองฝ่ายผ่านเข้าออกระหว่างบ้านของแต่ละฝ่ายกับถนนอรุณรัมรินทร์และใช้เป็นที่จอดรถบางเวลาด้วย ประตูเหล็กที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันรถยนต์และทรัพย์สินภายในบ้าน การสร้างโรงรถ พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประตูเหล็กขึ้นนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และนายประภัศร์และเป็นข้อตกลงก่อให้เกิดภารจำยอม จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้รับโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 2670 ต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาที่นายประภัศร์ทำไว้กับโจทก์ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงคือโฉนดที่ 8079และโฉนดที่ 3164 ที่แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดที่ 2670 เมื่อแบ่งแยกแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงไม่สามารถใช้รถยนต์แล่นเข้าออกสู่ถนนอรุณอัมรินทร์ เพราะที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินของจำเลยทั้งสองและกับของบุคคลอื่นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 จำเลยกับพวกถอนประตูเหล็กบานที่ยึดกับเสาคอนกรีตด้านซ้ายมือซึ่งปักอยู่ในที่ดินโจทก์โฉนดที่ 8079 โดยเจตนาไม่ให้โจทก์กับพวกใช้ประโยชน์ในประตูเหล็กและถนนคอนกรีตกับอาคารโรงรถ ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม จำเลยทั้งสองนำหนังสือไปปิดไว้ที่หน้าประตูเหล็กมีข้อความว่า ห้ามมิให้โจทก์และบริวารใช้ประตูเหล็กอาคารโรงรถ และถนนคอนกรีตทางพิพาท ห้ามมิให้โจทก์ใช้รถยนต์แล่นเข้าออกผ่านถนนคอนกรีตและอาคารโรงรถ กับนำกุญแจใส่ล็อกที่ประตูเหล็กโดยเจตนาไม่ให้โจทก์และบริวารปิดเปิดประตูเหล็กเพื่อนำรถยนต์แล่นออกจากบ้านสู่ถนนสาธารณะ กับมิให้โจทก์จอดรถในบริเวณโรงรถ และใช้ประตูเหล็ก ทำให้โจทก์และบริวารได้รับความเดือดร้อน ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาททางคอนกรีตและบริเวณถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (พื้นอาคารโรงรถ) ตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ในกรอบสีแดงและสีเขียวเป็นทางภารจำยอมสำหรับโจทก์และบริวารที่อยู่ในที่ดินของโจทก์โฉนดที่ 8079 และโฉนดที่ 3164 และเป็นทางจำเป็นสำหรับโจทก์และบริวารที่อาศัยอยู่บนที่ดินและบ้านของโจทก์ และประตูเหล็กอาคารโรงรถ ถนนคอนกรีตของอาคารโรงรถเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลยทั้งสองขัดขวางหรือกระทำการใด ๆในลักษณะกีดขวางในการที่โจทก์จะใช้ประโยชน์จากประตูเหล็ก อาคารโรงรถ ทางคอนกรีตและถนนพื้นคอนกรีตพิพาท ให้จำเลยทั้งสองถอดกุญแจที่ล็อกประตูเหล็กพิพาทออกหรือมอบลูกกุญแจสำหรับปิดเปิดกุญแจที่ล็อกประตูเหล็กให้แก่โจทก์ 1 ดอก เพื่อโจทก์สามารถไขกุญแจเปิดปิดประตูเหล็กนำรถยนต์แล่นเข้าออกจากบ้านโจทก์ไปสู่ถนนสาธารณะห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและหรือบริวารกระทำการก่อสร้างสิ่งกีดขวางใด ๆหรือกระทำการใด ๆ ในทางขัดขวาง มิให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากทางพิพาทและทรัพย์สินรวม
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายศิริ อาบทิพย์ ดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยทั้งสอง กรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่บรรยายฟ้องโจทก์อ้างว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมและทางจำเป็นนายศิริจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ หลวงลิขิตปรีชาและนางแสงไม่เคยตกลงก่อตั้งทางภารจำยอมขึ้นตรงแนวเขตที่ดินแบ่งแยกออกทั้งสองแปลง และนางแสงไม่เคยสละที่ดินของตนให้หลวงลิขิตปรีชาเพื่อใช้เป็นทางใช้ร่วมเข้าออกออกสู่ทางหลวง และไม่มีทางภารจำยอมกว้าง 1.40 เมตร 2.50 เมตร และ 2 เมตร ตรงแนวเขตที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องของโจทก์ หลวงลิขิตปรีชาและผู้รับมรดกต่อมาจนถึงโจทก์มิได้ใช้ทางเดินพิพาทตั้งแต่ต้น โจทก์ขอให้นายประภัศร์ขยายความกว้างของหลังคาโรงรถและเทพื้นทางถนนให้จนสุดที่ดินของโจทก์ เพื่อนำรถของสามีโจทก์มาจอดในโรงรถ นายประภัศร์ยินยอมโดยมีเงื่อนไขว่าจะนำรถมาจอดกีดขวางทางเข้าออกมิได้ และไม่เคยมอบให้นายหยาดศิลป์รับเงินจากโจทก์ โจทก์ไม่เคยออกเงินช่วยค่าก่อสร้าง อาคารโรงรถตลอดจนพื้นทางถนนส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เป็นทางสร้างโดยโจทก์ยินยอม ตกเป็นส่วนควบของที่ดินนายประภัศร์ โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากนายประภัศร์ จึงไม่ทำให้ที่ดินโฉนดที่ 2670ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ โจทก์ใช้ทางเดินและโรงรถเมื่อปี 2526นับถึงปัจจุบันไม่ถึง 10 ปี เมื่อปี 2533 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายประภัศร์ ประสงค์จะขายที่ดินโฉนดที่ 2670 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำเงินแบ่งแก่ทายาท จึงบอกกล่าวให้โจทก์ทราบถึงการจะขายที่ดินดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ขอยกเลิกสิทธิที่ให้โจทก์อาศัยทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะและจอดรถในที่ดินโฉนดที่ 2670 ทั้งหมดห้ามไม่ให้นำรถเข้าจอดในบ้านเลขที่ 639 อีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้ทางเดินในที่ดินโฉนดที่ 2670 ตั้งแต่วันที่ 2ธันวาคม 2534 ที่ดินโจทก์ด้านทิศใต้เป็นที่ดินซึ่งติดกับทางสาธารณะโจทก์ไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นจากที่ดินโฉนดที่ 2670 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททางคอนกรีตและบริเวณถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นอาคารโรงรถ ตามแผนที่พิพาทท้ายฟ้องหมายเลข 4 ในกรอบสีแดงซึ่งตรงกับแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.11 ในช่องสีเขียว เฉพาะปากทางด้านซึ่งติดกันถนนอรุณอัมรินทร์ให้กว้าง1.30 เมตร แล้วลากเส้นตรงไปยังหลักเขตเลขที่ 5868 ตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.11 โดยถือช่องสีเขียวเป็นหลักเป็นทางภารจำยอมสำหรับโจทก์และบริวารที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8079 และ3164 ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองขัดขวางหรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะกีดขวางการที่โจทก์จะใช้ประโยชน์จากทางดังกล่าว คำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 2670 แขวงศิริราช (บางเสาธง) เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 267 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางแสงดิษยนันทน์ ต่อมานางแสง ดิษยนันทน์ เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้แบ่งแยกออกเป็น 2 แปลง คือโฉนดที่ 2670 (เลขที่เดิม) เนื้อที่ 148 ตารางวาและโฉนดที่ 3164 เนื้อที่ 119 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของหลวงลิขิตปรีชา ต่อมาปี 2495 หลวงลิขิตปรีชาบิดาโจทก์ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 3164 ออกเป็น 4 แปลง คือโฉนดที่ 3164(เลขที่เดิม), 8079, 2448 และ 2449 ให้แก่บุตร 4 คน ซึ่งต่อมาที่ดินโฉนดที่ 3164 และ 8079 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ส่วนที่ดินโฉนดที่ 2670 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง ที่ดินของโจทก์อยู่ด้านทิศใต้ ที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ด้านทิศเหนือ ระหว่างที่ดินของโจทก์ กับจำเลยทั้งสองมีทางเดินจากคลองบ้านขมิ้นออกไปสู่ถนนอรุณอัมรินทร์ซึ่งเป็นทางสาธารณะได้
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 27 มกราคม 2537 ได้นั้น ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวมีใจความว่า ทางเดินพื้นคอนกรีตที่ได้ขยายขึ้นใหม่เพื่อเป็นทางคนและรถยนต์ผ่านเข้าออกระหว่างตัวบ้านกับถนนอรุณอัมรินทร์ภายในเส้นสีเขียวตามคำฟ้องข้อ 3 แผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งเกิดขึ้นตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายประภัศร์บิดาจำเลยทั้งสองนั้น บัดนี้ได้ใช้ร่วมกันตลอดมาเป็นเวลาเกินสิบปีแล้ว โจทก์จึงได้ภารจำยอมทางเดินพิพาทโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว และเป็นประเด็นที่ยกขึ้นใหม่ จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน คำร้องขอเพิ่มเติมของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายศิริ อาบทิพย์ ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้นายศิริ อาบทิพย์ ดำเนินคดีแทนโจทก์ จะไม่มีคำว่า ทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นก็ตาม แต่หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวระบุให้นายศิริ อาบทิพย์ มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งสอง ในกรณีที่จำเลยทั้งสองปิดประตูเหล็กห้ามมิให้โจทก์ใช้ที่ดินเป็นทางไปสู่ที่ดินและบ้านของโจทก์ โดยมีโจทก์และนายศิริ อาบทิพย์ เบิกความรับรองหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.1 ว่า มีการมอบอำนาจให้นายศิริ อาบทิพย์ ดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งสองแทนโจทก์จริง เมื่อหนังสือมอบอำนาจนั้นระบุถึงการปิดประตูเหล็กกั้นการใช้ที่ดินเป็นทางไปสู่ที่ดินของโจทก์ อันหมายถึงปิดทางในที่ดินพิพาท ซึ่งอาจจะเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นก็ได้แล้วแต่กรณีการฟ้องคดีตามคำฟ้องของนายศิริ อาบทิพย์ เป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตของการมอบอำนาจของโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทในฐานะเป็นทางจำเป็นอีกสถานะหนึ่งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 วรรคแรก บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดที่มีดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีทางเดินระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองจากคลองบ้านขมิ้นออกไปสู่ถนนอรุณอัมรินทร์ได้ซึ่งโจทก์ใช้อยู่ ทางพิพาทจึงมิใช่ทางจำเป็นตามกฎหมายดังกล่าว
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทในกรอบสีแดงและในกรอบสีเขียวโดยถือวิสาสะ จึงไม่เป็นทางภารจำยอม โจทก์เบิกความว่า หลังจากแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 2670 ออกเป็น 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดที่ 2670และ3164 แล้วในปี 2463 หลวงลิขิตปรีชา บิดาโจทก์ และนางแสงดิษยนันทน์เจ้าของที่ดินต่างได้สละที่ดินในส่วนของตนตั้งแต่คลองบ้านขมิ้นยาวตลอดไปถึงถนนอรุณอัมรินทร์เพื่อใช้เป็นทางเดินร่วมกันทางเดินพิพาทปรากฏตามแผนที่สังเขปทางพิพาทเอกสารหมาย จ.6โดยมีนาประเสริฐ บุญศรี พลเรือตรีปรีชา ดิษยนันทน์ นางถวิลศรีสวัสดิ์ และนาวาเอกหญิงจินดา ศิลปกนก เบิกความสนับสนุนศาลฎีกาเห็นว่าตามภาพถ่ายแผนที่หลังโฉนด โฉนดที่ 2670 ของจำเลยทั้งสอง ตามเอกสารหมาย จ.4 ด้านทิศตะวันตกจรดคลองบ้านขมิ้นด้านทิศตะวันออกจรดถนนหลวง ปัจจุบันคือถนนอรุณอัมรินทร์ ฉะนั้นบุคคลที่อาศัยอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 2670 ตั้งแต่เดิมมีทางเดินไปสู่ทางสาธารณะได้ 2 ทาง คือไปลงคลองบ้านขมิ้นหรือเดินไปออกถนนอรุนอัมรินทร์ปัจจุบัน จึงเชื่อได้ว่าบิดาโจทก์เจ้าของที่ดินโฉนดที่ 3164 เดิม และนางแสงเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2670 ได้สละที่ดินซึ่งคั่นกลางระหว่างที่ดินโจทก์กับจำเลยทั้งสองในปัจจุบันให้เป็นทางเดินร่วมกันเพื่อออกไปสู่ถนนอรุณอัมรินทร์ตั้งแต่ปี 2463 แล้ว เมื่อบิดาโจทก์ โจทก์ ญาติพี่น้องพร้อมทั้งบริวารได้ทางเดินดังกล่าว โดยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้สิทธิภารจำยอมติดต่อกันมาเกินสิบปี โดยไม่มีผู้ใดทักท้วง ศาลฎีกาเชื่อว่า โจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทในกรอบสีแดงตามแผนที่สังเขปทางพิพาทเอกสารหมาย จ.6 โดยปรปักษ์ มิใช่โดยถือวิสาสะทางพิพาทในกรอบสีแดงจึงเป็นทางภารจำยอม ส่วนทางพิพาทในกรอบสีเขียว(นอกกรอบสีแดง) ศาลฎีกาจะวินิจฉัยรวมกับฎีกาข้อต่อไปของโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า ทางพิพาทในกรอบสีเขียวเฉพาะส่วนในที่ดินโฉนดที่ 2670 ของจำเลยทั้งสอง ตกเป็นทางภารจำยอมโดยสัญญาสำหรับที่ดินโฉนดที่ 8079 และ 3164 ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับทางในกรอบสีเขียวที่โจทก์อ้างว่าก่อตั้งขึ้นโดยสัญญาระหว่างโจทก์กับนายประภัศร์บิดาจำเลยทั้งสองนั้น แม้จะมีอยู่ก็ตรา แต่ในสัญญานั้นตามนิติกรรมการก่อตั้งมิได้มีระยะเวลากำหนดไว้ให้ใช้ได้นานเพียงใดฉะนั้นคู่กรณีหรือผู้รับโอนสิทธิต่อมาย่อมจะยกเลิกเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2534 จำเลยทั้งสองปิดประตูเหล็กกั้นมิให้โจทก์และบริวารเข้าออกไปสู่ถนนสาธารณะแสดงว่าจำเลยทั้งสองซึ่งรับโอนสิทธิและหน้าที่จากนายประภัศร์บิดาประสงค์เลิกสัญญาก่อตั้งทางภารจำยอมดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนสิทธิการได้มาทั้งยังมิได้สิทธิโดยอายุความ การที่จำเลยทั้งสองบอกเลิก โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในกรอบสีเขียวได้อีกต่อไป แต่ปรากฏว่าทางดังกล่าวทับซ้อนกับทางภารจำยอมเดินอยู่บางส่วน ฉะนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ทางภารจำยอมเดิม ซึ่งอยู่ในกรอบสีแดงนั้นได้ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิปิดกั้น ข้อเท็จจริงที่จะพิจารณาต่อไปมีว่า ทางภารจำยอมในกรอบสีแดงมีความกว้างเพียงใดศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าระหว่างที่ดินโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีทางเดินจากคลองบ้านขมิ้นออกสู่ถนนสาธารณะอรุณอัมรินทร์ ทางเดินมีความกว้างไม่เท่ากัน ส่วนที่อยู่ด้านทิศเหนือยาวตลอดจรดกับถนนสาธารณะอรุณอัมรินทร์ คือ 1.40 เมตร2.30 เมตร 2.20 เมตร และ 2 เมตร ตามลำดับ ตามแผนที่สังเขปทางพิพาทเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งหมายถึงทางพิพาทในกรอบสีแดงทั้งหมดปรากฏว่าทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาคัดค้านข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาดังกล่าวแต่ประการใด ฉะนั้น จึงต้องฟังว่าทางเดินในกรอบสีแดงซึ่งเป็นทางภารจำยอมเดิมมีความกว้าง 1.40 เมตร2.20 เมตร 2.20 เมตร และ 2 เมตร ตามลำดับ ตามแผนที่สังเขปทางพิพาทเอกสารหมาย จ.6 ฉะนั้น ปากทางเข้าทางภารจำยอมส่วนที่ติดกับถนนอรุณอมรินทร์ มีความกว้าง 2 เมตร มิใช่เพียง 1.30 เมตรดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในโรงรถ พื้นคอนกรีตเสาโรงรถติดบานประตูเหล็ก เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ทำลงในที่ดินโจทก์กับนายประภัศร์บิดาจำเลยทั้งสอง จึงเป็นส่วนควบกับที่ดินโจทก์และนายประภัศร์เมื่อโจทก์มีส่วนช่วยออกเงินก่อสร้าง โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่า พื้นคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างตามภาพถ่าย จ.8 และ จ.9 ได้ ก่อสร้างขึ้นเพื่อความสะดวกที่โจทก์จะนำรถเข้าออกสู่ถนนสาธารณะกับเข้าถึงบ้านโจทก์ และเป็นที่พักจอดรถของโจทก์เท่านั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายให้แก่นายประภัศร์บิดาจำเลยทั้งสองในการก่อสร้างทำพื้นคอนกรีตโรงรถกับประตูเหล็กนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นการช่วยเหลือค่าก่อสร้างเพื่อให้สิ่งปลูกสร้างมีความมั่นคงถาวรเป็นประโยชน์แก่การใช้ทรัพย์ของโจทก์ มิใช่ช่วยออกเงินโดยเจตนาเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์นั้น โจทก์จึงไม่มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ที่โจทก์ฎีกาว่า สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นส่วนควบกับที่ดินโจทก์และนายประภัศร์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นปรากฏว่าโจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เป็นประเด็นที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น และมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ชอบศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาท ทางคอนกรีตและบริเวณถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก (พื้นอาคารโรงรถ) ตามแผนที่พิพาทท้ายฟ้องหมายเลข 4ในกรอบสีแดง ซึ่งมีความกว้างของปากทางเข้าด้านที่ติดกับถนนอรุณอัมรินทร์ ลึกไปจนจรดคลองบ้านขมิ้น ดังนี้ 2 เมตร 2.20 เมตร2.30 เมตร และ 1.40 เมตร ตามลำดับ ตามแผนที่สังเขปทางพิพาทเอกสารหมาย จ.6 เป็นทางภารจำยอมสำหรับโจทก์และบริวารที่อยู่ในที่ดินโฉนดที่ 8079 และ 3164 ของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share