แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลังจากรับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การตลอดมารวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดจำกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การที่ตนร้องขอขยายระยะเวลาไว้เอง และต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดนั้น ก็ต้องร้องขอขยายระยะเวลาต่อไปตามความจำเป็นอีก การที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาให้คู่ความแต่ละฝ่ายปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนในการดำเนินกระบวนพิจารณาก็เพื่อเร่งรัดให้ทุกฝ่ายดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาอันสมควร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยหน้าที่นั้นก็ต้องถือว่าไม่ติดใจดำเนินกระบวนพิจารณาตามหน้าที่ของตน แม้กระนั้นกฎหมายก็ยังให้โอกาสในการกล่าวอ้างแก้ตัวผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หากว่าฝ่ายนั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจจักก้าวล่วงเสียได้ แต่ในกรณีของจำเลยทั้งห้านั้น คงปรากฏตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 แต่เพียงว่า ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดหลงว่าครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงทำให้เข้าใจผิดหลงไปได้เช่นนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันอาจจูงใจให้ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้เช่นนั้น ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อแก้ตัวอันควรได้ แม้ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งห้าจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอีกครั้งหนึ่งว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมีเหตุผลสมควรประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 นั้น ก็ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคท้าย สำหรับปัญหาที่ว่าคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าฉบับหลังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
แม้ปีภาษี 2544 โจทก์จะมิได้นำค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกตามรายการทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกับค่ารายปีของโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบนั้น แต่เมื่อโจทก์สำแดงรายการเครื่องจักรกลไกตามที่จำเลยที่ 1 ทักท้วงประจำปีภาษี 2545 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องกำหนดค่ารายปีของส่วนควบสำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกนั้น เพื่อหาจำนวนเงินที่เครื่องจักรกลไกแต่ละเครื่องสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 8 วรรคสอง เพื่อคิดค่าภาษี และในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรกลไกดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของเครื่องจักรกลไก ขนาด ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่เครื่องจักรกลไกนั้นได้รับประโยชน์ตามความในวรรคสามของมาตรา 8 นั้น แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2475 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน กล่าวคือ ในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่จำเลยที่ 1 พิจารณากำหนดค่ารายปีโดยคำนึงแต่เพียงว่าเครื่องจักณกลไกดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 999,452,799.66 บาท และโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึง 4,275,982,415.29 บาท เสียภาษีสรรพสามิต 15,439,793,946.26 บาท แสดงว่าโจทก์สามารถใช้เครื่องจักรหาผลประโยชน์ได้เป็นเงินจำนวนสูงมากจึงกำหนดค่ารายปีจากข้อมูลดังกล่าวเป็นเงินจำนวนสูง ทั้งที่ค่ารายปีตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ หมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้การเช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเช่าทรัพย์สินนั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีสอดคล้องกับค่าเช่าดังกล่าวมากที่สุด โดยกรณีเงินได้ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องจักรนั้นผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นเพียงที่มาของเงินได้ของผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมีหลักการคนละอย่างกับการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ให้จัดเก็บจากฐานค่ารายปี โดยถือตามเกณฑ์การหาประโยชน์ในการให้เช่าหรือควรให้เช่าได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากมีผู้เช่าเครื่องจักรนี้ไปใช้ผลิตสินค้าจำหน่าย ค่าเช่าเครื่องจักรย่อมเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของผู้เช่า ซึ่งควรต้องต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ผู้เช่าจะได้จากการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าจำหน่าย มิฉะนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เช่าแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีจากมูลค่าเครื่องจักรโดยมีที่มาจากรายได้ของโจทก์ที่ได้จากการใช้เครื่องจักรกลไกของโจทก์ผลิตสินค้าจึงเป็นการประเมินภาษีตามดุลพินิจของตนฝ่ายเดียวโดยไม่สมเหตุสมผลและมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสองและสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ และภาระภาษีที่ตกแก่โจทก์ การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การให้เช่าเป็นวิธีการหนึ่งในการหาประโยชน์โดยตรงจากทรัพย์สิน แม้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งนำออกให้เช่าจะเป็นฐานอย่างหนึ่งที่ผู้ให้เช่าย่อมต้องคำนึงถึงเป็นประการสำคัญก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดในการคำนวณหาจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เช่น ต้องพิจารณาความเหมาะสมของระยะเวลาที่เช่าทรัพย์นั้น รวมทั้งการเสื่อมราคาของทรัพย์สินด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีการฝากเงินต่อธนาคารอันทำให้ผู้ฝากได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยได้รับดอกเบี้ยตอบแทนจากธนาคารตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่ฝากนั้น น่าจะพอถือเป็นตัวเลขในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินได้อย่างหนึ่งรวมทั้งยังต้องพิจารณาจากข้อมูลอื่น ๆ อีก เพื่อคำนวณหาค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นว่าผันแปรเพิ่มขึ้นเพียงใดหรือไม่ อย่างไร เมื่อการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่ารายปีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ประกอบกับทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อมูลอื่นที่จะกำหนดค่ารายปีได้ดีกว่าการกำหนดตามทางเลือกที่โจทก์เสนอเพื่อประกอบการพิจารณาหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกดังกล่าวจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารของรัฐจึงสมควรถือตามข้อเสนอของโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การตามรูปคดีนี้ จึงชอบที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเหล่านั้นเป็นฐานในการคำนวณหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดโดยกำหนดค่ารายปีของโรงเรือน 6,889,003.80 บาท ค่ารายปีของโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก 6,233,850 บาท ค่ารายปีของเครื่องจักรกลไกอีก 9,994,527.97 บาท คำนวณเป็นค่าภาษีซึ่งจะต้องเสีย 1,537,307.89 บาท หรือกำหนดค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทจากอัตราถัวเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ 5 แห่ง หรือนำดัชนีราคาผู้บริโภคของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์มาเป็นหลักสำหรับคำนวณเพิ่มค่ารายปี โดยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนที่ลด 41,324,928.36 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำชี้ขาด โดยกำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 สำหรับโรงเรือนพิพาท 1,634,808.26 บาท ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินส่วนที่ลด 41,227,427.99 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด มิฉะนั้นให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่นั้นจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำขออื่น
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ยื่นแบบแจ้งรายการโรงงานผลิตเบียร์ โซดาและน้ำดื่มเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ขอตรวจสอบโรงเรือนและแจ้งให้โจทก์แสดงราคาส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมของโจทก์ดังกล่าว โจทก์จึงยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำแดงรายการเครื่องจักรกลไกและแก้ไขรายการ โดยเพิ่มเติมราคาเครื่องจักรกลไกในลำดับที่ 2, 5, 8, 9 และ 11 ลดพื้นที่ในลำดับที่ 27, 36 เพิ่มเติมลำดับที่ 37, 38 จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 โดยกำหนดค่ารายปี 342,897,887 บาท คำนวณให้โจทก์ชำระภาษี 42,862,236.25 บาท โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยขอลดหย่อนค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับโรงเรือนในลำดับที่ 2, 5, 8, 9, 11 และ 13 แต่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 5 ในฐานะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 มีคำชี้ขาดตามการประเมินนั้น อนึ่ง หลังจากจำเลยทั้งห้ารับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดีแล้วจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และได้รับอนุญาตรวม 3 ครั้ง จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ครั้นวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน จำเลยทั้งห้าจึงยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอ้างว่าทนายจำเลยทั้งห้าสำคัญผิดว่าครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลภาษีอากรกลางนัดไต่สวนคำร้อง ครั้นถึงวันนัดจึงพิจารณาเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดไต่สวนและมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งห้าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การดังกล่าว วันที่ 25 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอีก ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วันที่ 6 มกราคม 2546 จำเลยทั้งห้ายื่นคำคัดค้านคำสั่งศาลภาษีอากรกลางว่าคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2545 มิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2546 ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าฉบับนั้นเพิ่มเติมว่าต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยทั้งห้ามีว่า จำเลยทั้งห้าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่และคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เห็นว่า หลังจากรับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การตลอดมารวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดจำกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การที่ตนร้องขอขยายระยะเวลาไว้เอง และต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดนั้น ก็ต้องร้องขอขยายระยะเวลาต่อไปตามความจำเป็นอีก การที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาให้คู่ความแต่ละฝ่ายปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนในการดำเนินกระบวนพิจารณา ก็เพื่อเร่งรัดให้ทุกฝ่ายดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาอันสมควร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยหน้าที่นั้นก็ต้องถือว่าไม่ติดใจดำเนินกระบวนพิจารณาตามหน้าที่ของตน แม้กระนั้นกฎหมายก็ยังให้โอกาสในการกล่าวอ้างแก้ตัวผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหากว่าฝ่ายนั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจจักก้าวล่วงเสียได้ แต่ในกรณีของจำเลยทั้งห้านั้น คงปรากฏตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 แต่เพียงว่า ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจโดยผิดหลงว่าครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงทำให้เข้าใจผิดหลงไปได้เช่นนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันอาจจูงใจให้ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้เช่นนั้น ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อแก้ตัวอันควรได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งงดไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การจึงชอบแล้ว แม้ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งห้าจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอีกครั้งหนึ่งว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมีเหตุผลสมควรประการอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 นั้น ก็ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคท้าย สำหรับปัญหาที่ว่าคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าฉบับหลังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าในครั้งหลัง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าในข้อต่อไปมีว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินตลอดจนคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าในส่วนที่เกี่ยวกับส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกตามรายการทรัพย์สินลำดับที่ 2, 5, 8, 9 และ 11 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ปีภาษี 2544 โจทก์จะมิได้นำค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกตามรายการทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกับค่ารายปีของโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบนั้น แต่เมื่อโจทก์สำแดงรายการเครื่องจักรกลไกตามที่จำเลยที่ 1 ทักท้วงประจำปีภาษี 2545 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องกำหนดค่ารายปีของส่วนควบสำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกแต่ละเครื่องสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 วรรคสอง เพื่อคิดค่าภาษี และในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรกลไกดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของเครื่องจักรกลไก ขนาด ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่เครื่องจักรกลไกนั้นได้รับประโยชน์ตามความในวรรคสามของมาตรา 8 นั้นแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2475 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน กล่าวคือ ในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่จำเลยที่ 1 พิจารณากำหนดค่ารายปี โดยคำนึงแต่เพียงว่าเครื่องจักรกลไกดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 999,452,799.66 บาท และโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึง 4,275,982,415.29 บาท เสียภาษีสรรพสามิต 15,439,793,946.26 บาท แสดงว่าโจทก์สามารถใช้เครื่องจักรหาผลประโยชน์ได้เป็นเงินจำนวนจำนวนสูงมาก จึงกำหนดค่ารายปีจากข้อมูลดังกล่าวเป็นเงินจำนวนสูง ทั้งที่ค่ารายปีตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้การเช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเช่าทรัพย์สินนั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีสอดคล้องกับค่าเช่าดังกล่าวมากที่สุด โดยกรณีเงินได้ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องจักรนั้นผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นเพียงที่มาของเงินได้ของผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหลักการคนละอย่างกับการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ให้จัดเก็บจากฐานค่ารายปี โดยถือตามเกณฑ์การหาประโยชน์ในการให้เช่าหรือควรให้เช่าได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากมีผู้เช่าเครื่องจักรนี้ไปใช้ผลิตสินค้าจำหน่าย ค่าเช่าเครื่องจักรย่อมเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของผู้เช่า ซึ่งควรต้องต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ผู้เช่าจะได้จากการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าจำหน่าย มิฉะนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เช่าแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีจากมูลค่าเครื่องจักร โดยมีที่มาจากรายได้ของโจทก์ที่ได้จากการใช้เครื่องจักรกลไกของโจทก์ผลิตสินค้าจึงเป็นการประเมินภาษีตามดุลพินิจของตนฝ่ายเดียว โดยไม่สมเหตุสมผลและมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสองและสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และภาระภาษีที่ตกแก่โจทก์ การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาว่าค่ารายปีรายนี้ควรเป็นเท่าใดนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การให้เช่าเป็นวิธีการหนึ่งในการหาประโยชน์โดยตรงจากทรัพย์สิน แม้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งนำออกให้เช่าจะเป็นฐานอย่างหนึ่งที่ผู้ให้เช่าย่อมต้องคำนึงถึงเป็นประการสำคัญก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดในการคำนวณหาจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เช่น ต้องพิจารณาความเหมาะสมของระยะเวลาที่เช่าทรัพย์นั้นรวมทั้งการเสื่อมราคาของทรัพย์สินด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีการฝากเงินต่อธนาคารอันทำให้ผู้ฝากได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยได้รับดอกเบี้ยตอบแทนจากธนาคารตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่ฝากนั้น น่าจะพอถือเป็นตัวเลขในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินได้อย่างหนึ่ง รวมทั้งยังต้องพิจารณาจากข้อมูลอื่น ๆ อีก เพื่อคำนวณหาค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นว่าผันแปรเพิ่มขึ้นเพียงใดหรือไม่ อย่างไร เมื่อการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่ารายปีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ประกอบกับทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อมูลอื่นที่จะกำหนดค่ารายปีได้ดีกว่าการกำหนดตามทางเลือกที่โจทก์เสนอเพื่อประกอบการพิจารณาหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกดังกล่าวจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารของรัฐ จึงสมควรถือตามข้อเสนอของโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การ ตามรูปคดีนี้จึงชอบที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเหล่านั้นเป็นฐานในการคำนวณหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก อย่างไรก็ตาม ที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเกณฑ์คำนวณนั้น เห็นว่า โจทก์ได้นำเสนออัตราดอกเบี้ยของธนาคารออมสินอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี ควบคู่มาด้วยจึงเป็นการสมควรที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งเป็นเกณฑ์ถัวเฉลี่ยระหว่างธนาคารสองแห่งนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณหาค่ารายปี คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร จึงคำนวณกำหนดค่ารายปีเครื่องจักรกลไกลำดับที่ 2 เป็นเงิน 1,754,124.73 บาท ลำดับที่ 5 เป็นเงิน 420,440.62 บาท ลำดับที่ 8 เป็นเงิน 1,206,759.36 บาท ลำดับที่ 9 เป็นเงิน 372,015.79 บาท และลำดับที่ 11 เป็นเงิน 8,339,819.50 บาท เมื่อคำนวณรวมกับค่ารายปีของโรงเรือนในลำดับต่าง ๆ ดังกล่าวและลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วยตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 13 ที่มุ่งหมายจะบรรเทาภาระภาษีแก่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเครื่องจักรกลไกราคาสูงในการประกอบกิจการแล้วคิดเป็นค่าภาษีในส่วนนี้ 780,292.09 บาท เมื่อคำนวณรวมกับค่าภาษีโรงเรือนลำดับ 13 ตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้แล้วเป็นเงิน 1,738,917.57 บาท โจทก์ชำระภาษีตามการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าไว้แล้ว 42,862,236.25 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินภาษีส่วนที่ลดลง 41,123,318.68 บาท นั้นแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำหนดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 สำหรับโรงเรือนพิพาทเป็นเงิน 1,738,917.57 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีส่วนที่ลดลง 41,123,318.68 บาท ให้แก่โจทก์ภายในสามเดือน มิฉะนั้นให้ใช้ดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่นั้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง