คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 90/5 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” คดีนี้ แม้คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุมาตรา 90/5 มาด้วย จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 90/5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 90/5 จึงเป็นการเกินคำขอ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 อาจเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงในนาม ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 จะได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 36 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท รวมเป็นเงินค่าปรับ 1,080,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 ประกอบมาตรา 90/4 (6) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน รวม 26 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 78 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 52 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้านี้มีนายพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นอาของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2548 ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่หรือไม่ คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับพวกโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (6) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” เห็นว่า คดีนี้ ถึงแม้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุมาตรา 90/5 มาด้วย จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามบทบัญญัติมาตรา 90/5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 90/5 จึงเป็นการเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ คดีนี้ ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 โดยนายพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการคนเดิมแต่ผู้เดียวเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2548 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2551 อันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2548 ซึ่งพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบก็ไม่มีสิ่งใดที่ส่อแสดงให้เห็นหรือเชื่อมโยงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีดังกล่าวที่เป็นเท็จหรือไม่ อย่างไร แม้พยานโจทก์จะเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำยอมรับว่าเคยไปรับเช็คจากลูกค้า ก็คงแปลความได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 เคยไปรับเช็คให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จดังกล่าว และยังได้ความจากพยานจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ได้แก่นายบุญยัง เบิกความว่า ทำงานในตำแหน่งหัวหน้ากะงานกับบริษัทจำเลยที่ 1 ในช่วงปี 2545 เท่าที่เห็นผู้มีอำนาจสั่งการงานในนามจำเลยที่ 1 คือนายพิสุทธิ์ ทำงานอยู่จนถึงปี 2550 ช่วงที่ทำงานให้กับจำเลยที่ 1 นั้นไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เข้ามาดำเนินการในนามของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด และนางสิริยากร เบิกความว่า ทำหน้าที่เสมียนทั่วไปให้จำเลยที่ 1 มา 10 ปี เท่าที่ทราบนายพิสุทธิ์เป็นเจ้าของบริษัท จำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการทุกอย่าง เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นเสียภาษีและรับเงินรายได้ต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน นายพิสุทธิ์จะนำเงินใส่ซองมามอบให้พยาน แล้วพยานจะแจกจ่ายให้แก่ลูกจ้างในบริษัทจำเลยที่ 1 พยานได้ลาออกจากบริษัทจำเลยที่ 1 ในช่วงปี 2551 ก็ยังคงเห็นนายพิสุทธิ์เป็นคนสั่งการในนามจำเลยที่ 1 เรื่อยมา เคยเห็นจำเลยที่ 2 เพียงครั้งเดียว แต่นานมาแล้ว ทราบว่าจำเลยที่ 2 เคยมาช่วยงานบริษัทจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันไว้แต่ต้นว่าเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงในนามเท่านั้น พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 อาจเป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงในนาม ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ก็เป็นได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 จะได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share