คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6174/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 ฎีกาต้องมีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่าการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงหรือไม่รับฟังข้อเท็จจริงข้อใดนั้นชอบหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายทั้งสอง ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายทั้งสองมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของจ่าสิบเอกสราวุธ ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร และจำเลยใช้มีดปลายแหลม ยาวประมาณ 10 นิ้ว 1 เล่ม แทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ถูกที่ข้อศอกซ้ายและมือขวา เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือ จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน หลังจากนั้นจำเลยใช้มีดปลายแหลมดังกล่าวแทงนางสาวสุกัญญา ผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้งถูกที่หน้าผากและข้อมือซ้าย เป็นเหตุผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 297, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 365 (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สองบท และมาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364 อีกบทหนึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 2 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ขอให้ยกฟ้อง นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ฎีกาต้องมีข้อความคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงหรือไม่รับฟังข้องเท็จจริงข้อใดนั้นชอบหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด ควรรับฟังข้อเท็จจริงอย่างไร คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายทั้งสอง ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายทั้งสองมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364 โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 แล้วใช้มีดแทงผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สองบท, 365 (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364 เป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าว กรณีมิใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยดังที่จำเลยฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share