คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6169/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ โดยมีจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้าย แล้วแซงเข้าประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายสุดใช้เท้าถีบหน้าอกผู้เสียหายรถเสียหลักล้มลง ผู้เสียหายถูกรถจักรยานยนต์ล้มทับขาได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 หยุดรถ จำเลยที่ 3 ลงจากรถถือมีดปลายแหลมเดินเข้าไปหาผู้เสียหายแล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมใส่อยู่ขาดติดมือไปได้บางส่วน หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รออยู่หลบหนีไปด้วยกัน เมื่อจำเลยที่ 3 มีอาวุธมีดติดตัวไปด้วยในการปล้นทรัพย์จำเลยทั้งสามจึงต้องมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง และลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 371, 91, 83, 33 ริบอาวุธมีดพร้อมฝักและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 83 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 24 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์จำคุก 16 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 16 ปี 1 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละหนึ่งในสาม และจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปี 15 วัน ริบอาวุธมีดและรถจักรยานยนต์ของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ โดยมีจำเลยที่ 3 กับพวกอีก 1 คน นั่งซ้อนท้าย แล้วแซงเข้าประกบรถจักรยานยนต์ของนายประจิม จากนั้นชายที่นั่งซ้อนท้ายสุดใช้เท้าถีบหน้าอกนายประจิมจนรถเสียหลักล้มลง ผู้เสียหายถูกรถจักรยานยนต์ล้มทับขาได้รับอันตรายสาหัสพวกของจำเลยที่ 3 หยุดรถ จำเลยที่ 3 ลงจากรถถือมีดปลายแหลมเดินเข้าไปหาผู้เสียหายแล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมใส่อยู่ขาดติดมือไปได้บางส่วน หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของพวกที่รออยู่หลบหนีไปด้วยกัน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีอาวุธมีดติดตัวไปด้วยในการปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ด้วย และลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 กฎหมายระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว ไม่ได้ระวางโทษจำคุก ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดตามมาตรา 340 มาเพียงวรรคเดียว และพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 15 วัน ในความผิดฐานพาอาวุธมีดฯ จึงไม่ถูกต้อง และเป็นการลงโทษจำเลยที่ 3 หนักกว่าอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติแม้โจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามและแก้ไขโทษของจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานพาอาวุธมีดฯ เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 340 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่งเฉพาะความผิดฐานนี้ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 100 บาท เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และรวมกับโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปี และปรับ 50 บาท หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนกำหนดโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share