คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะยอมจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์อันเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรกก็ตาม แต่หนังสือสัญญาเช่าที่จำเลยเสนอให้โจทก์จดทะเบียนนั้นมีข้อความจำกัดสิทธิผู้เช่าเกินกว่าที่ผู้เช่าโดยทั่วไปจะปฏิบัติได้ เช่นบุคคลที่จะอยู่อาศัยในอาคารที่เช่าต้องเป็นญาติของผู้เช่า ห้ามชาวต่างประเทศอยู่อาศัยหรือทำงานในอาคารที่เช่า ห้ามทุกคนอยู่บริเวณเฉลียงของอาคารในเวลากลางวันเป็นต้นซึ่งหนังสือสัญญาเช่าตึกดังกล่าวมีข้อความผิดไปจากข้อความในสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิและสัญญาว่าจ้างสร้างอาคารเดิม อันเป็นการจะบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ผิดไปจากที่จำเลยจะต้องชำระ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิไม่ยอมรับจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 และมาตรา 320กรณีต้องถือว่าจำเลยไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรกได้ โจทก์ย่อมขอออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อบังคับชำระเงินตามคำพิพากษาในลำดับหลังได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้วให้จำเลยที่ 1 ไปทำจดทะเบียนการเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1189 หรือเลขที่ 1187ถนนรัชดาภิเษก แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร กับโจทก์เป็นเวลา 30 ปี โดยให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 750,000 บาท แก่จำเลยที่ 2เป็นการตอบแทน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนดังกล่าวก็ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 4,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงินเดือนละ 30,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2537 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์และหรือจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองชำระเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้โจทก์เช่าอาคารพิพาทเพื่อทำการค้า โดยจำเลยที่ 1 ไม่ทำอาคารดังกล่าวให้เรียบร้อย ปล่อยอาคารให้รกร้างเป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเช่าต่อกันได้ โจทก์จึงขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1187 แขวงบางน้ำชล(แขวงบุคคโล) เขตบางลำภูล่าง (เขตธนบุรี) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 ว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ไปรับจดทะเบียนการเช่าตามคำพิพากษาหลายครั้งทั้งได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งให้โจทก์ไปรับจดทะเบียนการเช่าด้วย และขอให้ศาลงดการบังคับคดีไว้ก่อนซึ่งศาลสั่งอนุญาตแล้ว แต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ไปรับการจดทะเบียนการเช่าที่ดิน โดยให้ถือวันที่ 7หรือวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 เป็นวันเริ่มต้นนับอายุสัญญา กับขอให้โจทก์ถอนหมายบังคับคดีที่ยึดทรัพย์สินจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1187 แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ศาลมีคำสั่งไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นยกคำร้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบเพราะผลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินให้โจทก์ก่อน จำเลยที่ 1 พร้อมที่จะจดทะเบียนการเช่า แต่โจทก์บิดพลิ้วเอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิเอกสารหมาย ร.1 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ปี 2532ตามสัญญาข้อ 2(ค) ผู้ก่อสร้างคือจำเลยที่ 2 มีสิทธิในอาคาร 30 ห้อง อายุสัญญามีกำหนด 30 ปี สัญญาเริ่มนับตั้งแต่วันก่อสร้างเสร็จทุกห้องและตามสัญญาข้อ 3 การทำสัญญาเช่าต้องแล้วเสร็จไม่เกิน 4 ปี หลังจากวันทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิดังกล่าวแล้ว โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.2 ให้โจทก์ออกเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยที่ 1 และให้โจทก์เป็นผู้รับสิทธิการเช่าอาคาร จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารเสร็จปี 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 บิดพลิ้วไม่ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแล้ว จำเลยที่ 1ยอมจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ แต่ข้อความในสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 1นำมาให้โจทก์ลงชื่อมีข้อความจำกัดสิทธิผู้เช่ามาก โจทก์ขอให้แก้ไขแต่ตกลงรายละเอียดกันไม่ได้ ตามหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเอกสารหมาย จ.3 โจทก์จึงไม่ยอมทำสัญญาเช่า เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะยอมจดทะเบียนการเช่าให้โจทก์อันเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรกแล้วก็ตาม แต่หนังสือสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยที่ 1 เสนอให้โจทก์จดทะเบียนนั้น มีข้อความจำกัดสิทธิผู้เช่าเกินกว่าที่ผู้เช่าโดยทั่วไปจะปฏิบัติได้ เช่นบุคคลที่จะอยู่อาศัยในอาคารที่เช่าต้องเป็นญาติของผู้เช่า ห้ามชาวต่างประเทศอยู่อาศัยหรือทำงานในอาคารที่เช่า ห้ามทุกคนอยู่บริเวณเฉลียงของอาคารในเวลากลางวัน ผู้เช่าต้องทำการค้าภายใน 4 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า มิฉะนั้นต้องเสียค่าปรับเป็นรายวันเป็นต้น ซึ่งหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความผิดไปจากข้อความในสัญญาก่อสร้างอาคารยกสิทธิเอกสารหมาย ร.1 และสัญญาว่าจ้างสร้างอาคารเอกสารหมาย ร.2 อันเป็นการจะบังคับให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ผิดไปจากที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิไม่ยอมรับจดทะเบียนการเช่ากับจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 และมาตรา 320 กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในลำดับแรกได้ โจทก์ย่อมขอออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระเงินตามคำพิพากษาในลำดับหลังได้และการออกหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นไม่ได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจำเลยที่ 1 ชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share