คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6146/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยนำสืบว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 2,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน ความจริงจำเลยกู้เงินเพียง 2,000,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราตามกฎหมายรวมเป็นเงินต้นด้วย จึงระบุต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงิน 2,500,000 บาท เป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้
เมื่อมีการยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลต้องตรวจว่าต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) หรือไม่ หากคำร้องสอดต้องด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายศาลก็จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมคือรับคำร้องสอดไว้พิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนการสั่งรับหรือไม่รับคำร้องสอดในเบื้องต้น ส่วนเมื่อรับคำร้องสอดไว้พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะรับฟังได้ตามที่อ้างในคำร้องสอดหรือไม่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาคดี และแม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาจะรับฟังไม่ได้ตามที่อ้างก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนการสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมหรือการสั่งรับคำร้องสอดไว้พิจารณาในตอนแรกกลับกลายเป็นการสั่งโดยไม่ชอบหรือผิดหลง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน จำเลยขอชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระและให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแล้วแต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมรับชำระ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระพร้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดอ้างว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของที่ดินที่จำนองเป็นประกันหนี้จำเลยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีในอันที่จะให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นของจำเลยร่วมด้วย คำร้องสอดของจำเลยร่วมต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ชอบที่จะรับคำร้องสอดไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 จำเลยกู้เงินจากโจทก์ 2,500,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ทุกเดือน และจะชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 กันยายน 2534 จำเลยได้รับเงินกู้จากโจทก์แล้วแต่ไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามกำหนด นับถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระต้นเงิน 2,314,847 บาท และดอกเบี้ย 226,864 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,541,711 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,314,847 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมจำเลยกู้เงินจากนายจิตพงษ์ เกื้อวงศ์ โดยมีนายสมประสงค์ ชัยมงคล จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 เป็นประกัน ต่อมาจำเลยไปขอกู้เงินจากนายจิตพงษ์เพิ่มแต่นายจิตพงษ์ไม่มีเงินให้กู้ จำเลยจึงขอกู้จากโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท โจทก์ยอมให้กู้เป็นเวลา 10 เดือน คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และมอบเงินกู้ให้จำเลยเพียง 1,875,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 625,000 บาท โจทก์หักเป็นดอกเบี้ย จำเลยนำเงินกู้บางส่วนไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 แล้วนำมาจำนองเป็นประกันหนี้โจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดในต้นเงินส่วนที่เกิน 1,875,000 บาท เนื่องจากจำเลยไม่ได้รับเงินส่วนนี้ และไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเนื่องจากโจทก์คิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำเลยได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว 600,000 บาท คงค้างชำระต้นเงินเพียง 1,275,000 บาท เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2535 นางสมประสงค์ขอชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างที่ผิดนัด ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์รับชำระเงิน 1,275,000 บาท จากจำเลย และให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นายสมประสงค์ ชัยมงคล ยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ระหว่างจำเลยกับโจทก์ เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีในการขอให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวเมื่อจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นของผู้ร้องด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งมีคำสั่งไม่รับโดยเห็นว่าไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้จำเลย และสั่งคำร้องของผู้ร้องว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยแล้วผู้ร้องจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วม ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ จำเลยและผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 (ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ปัจจุบัน) พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยและคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและฟ้องแย้งจำเลยร่วมว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 จำเลยร่วมกู้เงินโจทก์ 2,500,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระหนี้คืนภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2534 ในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยร่วมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 เป็นประกัน หนี้เงินกู้ของจำเลยร่วมและของจำเลยเป็นหนี้คนละส่วนกัน เมื่อหนี้ถึงกำหนดจำเลยร่วมผิดนัดไม่ชำระคิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องแย้งจำเลยร่วมค้างชำระต้นเงิน 2,500,000 บาท และดอกเบี้ย 864,570 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมและบังคับให้จำเลยร่วมชำระเงิน 3,364,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งของโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยร่วมจนครบ
จำเลยร่วมให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ว่า จำเลยร่วมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 เป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยในวงเงิน 2,500,000 บาท แต่โจทก์มอบเงินกู้ให้จำเลยเพียง 1,875,000 บาท หนี้ของจำเลยและของจำเลยร่วมเป็นหนี้รายเดียวกัน จำเลยร่วมเคยขอชำระหนี้แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมรับ จำเลยยังคงค้างชำระต้นเงินเพียง 1,275,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยโจทก์คิดอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้งของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,314,847 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 226,864 บาท และให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 2,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 864,570 บาท หากจำเลยร่วมไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำเลยร่วมถึงแก่กรรม นางสาวดลพร ชัยมงคล บุตรจำเลยร่วม ขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,875,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองศาลให้เป็นพับ ยกคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องสอดและกระบวนพิจารณาที่ต่อเนื่องจากคำร้องสอด คืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์ฟ้องแย้งผู้ร้องสอดและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้องสอด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2533 จำเลยร่วมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.8 และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 จำเลยกู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่าไม่ได้รับเงินครบจำนวนตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยนำสืบอ้างว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ 2,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ความจริงจำเลยกู้เงินเพียง 2,000,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ซึ่งเกินอัตราตามกฎหมายรวมเป็นเงินต้นด้วย จึงระบุต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงิน 2,500,000 บาท นั้นเป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยย่อม จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด…… พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อหักเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์บางส่วนแล้ว คิดถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายจำเลยยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวน 2,314,847 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคำร้องสอดของจำเลยร่วมและกระบวนพิจารณาที่ต่อเนื่องจากคำร้องสอดเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลจะตรวจดูว่าคำร้องดังกล่าวต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) หรือไม่ หากคำร้องสอดต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้วศาลก็จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมคือรับคำร้องสอดไว้พิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนการสั่งรับหรือไม่รับคำร้องสอดในเบื้องต้น ส่วนเมื่อรับคำร้องสอดไว้พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะรับฟังได้ตามที่อ้างในคำร้องสอดหรือไม่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาพิพากษาคดี และแม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาจะรับฟังไม่ได้ตามที่อ้างก็ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนการสั่งอนุญาตให้เข้าเป็นจำเลยร่วมหรือการสั่งรับคำร้องสอดไว้พิจารณาในตอนแรกกลับกลายเป็นการสั่งโดยไม่ชอบหรือผิดหลง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินส่วนที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ไว้เป็นประกัน จำเลยขอชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระและให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 แล้วแต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมรับชำระ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์รับชำระหนี้ ส่วนที่ค้างชำระพร้อมจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยร่วมยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยโดยอ้างว่า จำเลยร่วมเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ที่จำนองเป็นประกันหนี้จำเลย เป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีในอันที่จะให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นของจำเลยร่วมด้วย คำร้องสอดของจำเลยร่วมดังกล่าวจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 (ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ปัจจุบัน) พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องสอดไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนในเวลาต่อมาเมื่อจำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้เงินกู้จากจำเลยและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ตามฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมนั้น หากศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 เป็นประกันหนี้ของจำเลยต่อโจทก์ตามที่กล่าวอ้างในคำร้องสอดศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ชอบที่จะพิจารณาพิพากษาไปตามรูปคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม และยกคำร้องสอดของจำเลยร่วมตลอดจนกระบวนพิจารณาที่ต่อเนื่องจากคำร้องสอดโดยเห็นว่าเป็นการพิพากษาโดยผิดหลงนั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาว่า จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้นแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่…… พยานหลักฐานของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมามีน้ำหนักน่าเชื่อถือน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยร่วม ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 เป็นประกันหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นพับชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะจำเลยผิดนัดชำระหนี้ทำให้โจทก์ต้องนำคดีมาฟ้อง จำเลยจึงมีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหมดนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้ความรับผิดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือผู้ชนะเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็ได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,314,847 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 226,864 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของโจทก์และของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 18,000 บาท ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่ให้ยกคำขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องสอดและกระบวนพิจารณาที่ต่อเนื่องจากคำร้องสอด และที่ให้ยกฟ้องแย้งของโจทก์และของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share