แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 41 ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งอื่นจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าดังกล่าวเกิดความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ใบตราส่งตามความหมายในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 59(1) หมายถึง ใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่งที่ออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งออกให้แก่บริษัท อ. ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจึงถือเป็นใบตราส่งตามความหมายดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจากบริษัท น. ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ใบตราส่งที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่บริษัท น. จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนในต่างประเทศประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลบางส่วนในประเทศไทย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการับขนส่งสินค้าทางทะเล โดยร่วมกับบริษัทขนส่งสินค้าในต่างประเทศ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นการค้าโดยปกติ เป็นเจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือยันตระภูมิจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเล และประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือเมื่อวันที่ 10 และ 17 พฤษภาคม 2541 บริษัทซิกน่า ปรอปเปอร์ตี้แอนด์ แคสชวลตี้ อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย ได้รับประกันภัยสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตแชมพู (ZPT)จำนวน 2 รายการ คือ รายการที่ 1 จำนวน 14 แพลเล็ท หรือ 67 ถังน้ำหนัก 6,480 กิโลกรัม (ที่ถูก 8,040 กิโลกรัม) โดยรับประกันภัยไว้เป็นเงิน 2,087,819 บาท รายการที่ 2 จำนวน 10 แพลเล็ทหรือ 50 ถัง น้ำหนัก 6,000 กิโลกรัม โดยรับประกันภัยไว้เป็นเงิน1,960,200 บาท จากบริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ลแมนูแฟคเจอริ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่สินค้าในระหว่างการขนส่ง สินค้าดังกล่าว บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ลแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ซื้อจากบริษัทโอลิน พีทีอีจำกัด สำหรับสินค้ารายการที่ 1 เป็นเงิน 60,300 ดอลลาร์สหรัฐและรายการที่ 2 เป็นเงิน 45,000 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทโอลินพีทีอี จำกัด ผู้ขายสินค้าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาส่งมอบให้แก่บริษัทพร็อคเตอร์แอนด์ แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร ในระบบซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ซึ่งจำเลยที่ 1ได้ว่าจ้างหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือยันตระภูมิให้ขนส่งสินค้าช่วงหนึ่งจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานครและเมื่อมีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือยันตระภูมิที่ท่าเรือในจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 13 และ 20 พฤษภาคม2541 แล้วจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในขนส่งสินค้าช่วงหนึ่ง เพื่อมอบให้แก่บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)จำกัด เมื่อบริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง(ประเทศไทย) จำกัด ได้รับสินค้าพบว่าสินค้าได้รับความเสียหายโดยรายการที่ 1 สินค้าเสียหาย 4 ถัง บุบและแตกแต่มีอยู่ 1 ถังในจำนวนสินค้าที่เสียหายยังอยู่ในสภาพที่นำไปใช้ผลิตแชมพูได้ความเสียหายคิดเป็นเงิน 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ รายการที่ 2สินค้าเสียหาย 4 ถัง บุบและแตก แต่มีอยู่ 2 ถัง ในจำนวนสินค้าที่เสียหายยังอยู่ในสภาพที่นำไปใช้ผลิตแชมพูได้ความเสียหายคิดเป็นเงิน 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ลแมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้เรียกร้องความเสียหายมายังโจทก์ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 เป็นเงิน 193,792.52 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยที่ 3 แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการชดใช้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน198,636.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 193,792.52 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินส่วน และเป็นการขัดต่อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ความรับผิดของผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 3ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งถือเป็นหน่วยการขนส่งขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ความรับผิดของผู้ขนส่งหรือจำเลยที่ 4ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันที่ 3พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 4,844 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 41จำเลยที่ 3 จึงอุทธรณ์ได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังข้อเท็จจริงว่าบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย)จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตแชมพู จำนวน 2 รายการจากบริษัทโอลิน พีทีอี จำกัด ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาส่งให้แก่บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง(ประเทศไทย) จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ให้แก่ผู้ขายไว้ ส่วนจำเลยที่ 3เป็นผู้รับขนสินค้าทั้ง 2 รายการจากจำเลยที่ 1 หรือตัวแทนจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3ไว้ สินค้าแต่ละรายการได้ถูกบรรจุลงในตู้สินค้ารายการละหนึ่งตู้ปรากฏว่าสินค้ารายการแรกตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9 หรือ ล.2จำนวน 3 ถัง ได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งอื่นจะต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งที่เกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3เท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสินค้าที่ขนส่งเกิดความเสียหายในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า ตามใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.2 มีข้อความบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ว่า SAID TO CONTAINซึ่งแปลว่าแจ้งบรรจุ มีความหมายว่าผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งว่ามีสินค้าบรรจุในตู้สินค้าโดยที่จำเลยที่ 3 ไม่ทราบถึงสภาพ จำนวน และลักษณะของสินค้าภายในตู้สินค้า ทั้งใบตราส่ง ตามเอกสารหมาย ล.2ยังมิได้มีการโอนไปยังบุคคลภายนอก จำเลยที่ 3 จึงสามารถยกเอาข้อความในใบตราส่งขึ้นกล่าวอ้างได้ ซึ่งตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.2ระบุไว้เพียงว่าสินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในตู้สินค้าจำนวน 1 ตู้ จึงต้องถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง ไม่ใช่ถังสินค้าเป็นหน่วยการขนส่งนั้น เห็นว่าหลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวนเงินค่าเสียหายตาม มาตรา 58 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กรณีแรกได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 59(1) ว่า “ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วยการขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ใบตราส่งให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้น เป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง” ใบตราส่งตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าวนั้นหมายถึงใบตราส่งซึ่งออกโดยผู้ขนส่ง ออกให้แก่ผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเล เพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญาดังกล่าวสำหรับคดีนี้คือ ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งออกให้แก่บริษัทโอลิน พีทีอี จำกัด ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า จึงถือเป็นใบตราส่ง ตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความระบุจำนวนและลักษณะของการบรรจุสินค้าว่า สินค้าเป็นเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตแชมพู จำนวน 14 แพลเล็ท หรือ 67 ถัง น้ำหนักถังละ120 กิโลกรัม รวม 8,040 กิโลกรัม ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่น มิใช่คู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง แต่ได้รับว่าจ้างจากบริษัทนอร์เอเซีย (เอชเค) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นให้ขนส่งสินค้าพิพาทนี้อีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ใบตราส่งตามเอกสารหมาย ล.2 ที่จำเลยที่ 3ออกให้แก่บริษัทนอร์เอเชีย (เอชเค) จำกัด จึงไม่ถือเป็นใบตราส่งตามความหมายแห่งบทบัญญัตินี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9มาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าถังสินค้า คือหน่วยการขนส่ง สินค้าเสียหาย 3 ถัง ความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องจำกัดเพียง 30,000บาท และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนดังกล่าวด้วยนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน