แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การทิ้งฟ้องที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามป.วิ.พ. มาตรา 132(1) นั้น มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลใช้ดุลพินิจตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป ได้ความว่าเหตุที่ผู้ร้องมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนด เพราะมีเหตุอันสมควร ซึ่งต่อมาผู้ร้องได้แถลงขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านจนผู้คัดค้านได้รับและยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว แสดงว่าผู้ร้องประสงค์ให้ดำเนินคดีต่อไป จึงไม่สมควรที่จะจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า เด็กชายพลลสิทธิ์หรือต้อง มูลพฤกษ์และเด็กหญิงศิวาพรหรือต่อ มูลพฤกษ์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเพี้ยน มูลพฤกษ์ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเพี้ยน มูลพฤกษ์ นายเพี้ยนไม่เคยอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยากับผู้ร้อง ไม่ได้เป็นบิดาของเด็กชายพลลสิทธิ์ มูลพฤกษ์และเด็กหญิงศิวาพร มูลพฤกษ์ และไม่เคยมีพฤติการณ์ของใด ๆ ที่แสดงว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของนายเพี้ยน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องโดยให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้คัดค้านภายใน 7 วัน ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องไม่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามที่ศาลกำหนด ถือว่าโจทก์ (ผู้ร้อง) ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ในวันเดียวกันนั้นผู้ร้องยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำหน่ายคดีแล้ว ยกคำแถลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอวางเงินเพื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้าน โดยอ้างว่านักการที่รับมอบฉันทะจากทนายผู้ร้องล้มป่วยลงตั้งแต่วันที่ 13-22 กุมภาพันธ์ 2533ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่จงใจทิ้งอุทธรณ์ อนุญาตให้วางเงินค่าส่งได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องเสียจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่าผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์ อันจะต้องจำหน่ายคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่…เห็นว่า ในชั้นแรก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีนั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องแสดงถึงเหตุอันสมควร ทั้งการทิ้งฟ้องที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(1)นั้น ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าต้องจำหน่ายคดีเสมอไป บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลใช้ดุลพินิจตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆ ไปเมื่อพิเคราะห์ถึงคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์2533 แล้ว ผู้คัดค้านก็มิได้โต้แย้งว่านายสงวนนักการซึ่งเป็นผู้รับมอบฉันทะจากทนายของผู้ร้องมิได้ป่วยเจ็บจริงตามใบรับรองแพทย์แต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องยื่นคำร้องว่าไม่มีเจตนาทิ้งอุทธรณ์และแถลงขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านโดยผู้ร้องได้แนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 100 บาท ซึ่งผู้คัดค้านได้รับสำเนาอุทธรณ์พร้อมทั้งได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ไว้แล้ว แสดงว่า ผู้ร้องประสงค์ให้ดำเนินคดีต่อไป และศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นแล้ว กรณียังไม่พอฟังว่าผู้ร้องจงใจทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุสมควรให้ผู้ร้องได้มีโอกาสดำเนินคดีต่อไป โดยยังไม่จำหน่ายคดีของผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องเสียจากสารบบความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยแต่เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้คัดค้านและผู้คัดค้านได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้อีก ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป.