แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยออกเช็คเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ แม้จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497แต่ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 จึงเป็นกรณีที่ต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง แม้คดีนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดนั้น และต้องปล่อยจำเลยพ้นจากการถูกลงโทษ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก คดีทั้งสามสำนวนนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ให้จำคุกรวม 42 เดือน จำเลยยื่นคำร้องว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ขอศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลย
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็คแลกเงินสดไปจากโจทก์และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 ใช้บังคับ ตามมาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และมาตรา 4 บัญญัติว่า”ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ มีความผิด” ดังนั้นการออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระกันก่อนแล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย การออกเช็คแลกเงินสดนั้นมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ดังนั้นการที่จำเลยออกเช็คเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นกรณีที่ต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง ที่ว่า บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้นแม้คดีนี้จะถึงที่สุดแล้วก็ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น และต้องปล่อยจำเลยพ้นจากการถูกลงโทษ
พิพากษากลับให้ปล่อยตัวจำเลยไป