คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6118/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินโจทก์และได้ออกเช็คพิพาทชำระค่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินตามเช็คไม่ได้การที่จำเลยออกเช็คพิพาทจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่7 กรกฎาคม 2525 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 240,000 บาทมีนางสาวอรฤดี สรรพวิทยา เป็นผู้ค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย ล.10,ล.11 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2527 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์90,000 บาท มีนางสาวสุภาพ ศรียุกตศุทร เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย ล.8, ล.9 และจำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาคลองประปา จำนวน 3 ฉบับ ฉบับที่หนึ่ง ลงวันที่30 พฤศจิกายน 2527 ฉบับที่สองลงวันที่ 30 ธันวาคม 2527 ฉบับที่สามลงวันที่ 30 มกราคม 2528 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 20,000 บาท ให้โจทก์ไว้เมื่อเช็คถึงกำหนดแล้ว โจทก์ได้นำเข้าบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทยสาขาบางซ่อน เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินปรากฏตามเช็ค ใบคืนเช็ค เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9 ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยนำสืบว่าได้ออกเช็คตามฟ้องชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้แก่โจทก์โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนแต่ตามสัญญากู้คิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาทต่อเดือน จำเลยนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5ต่อเดือน ผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475มาตรา 3 เป็นการรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องนั้น ปัญหาวินิจฉัยมีว่าจำเลยออกเช็คตามฟ้องนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์หรือออกเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้แก่โจทก์ โจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2527 จำเลยได้นำเช็ค 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4, จ.6และ จ.8 มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2527 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 90,000 บาทมีนางสาวสุภาพ ศรียุกตศุทร เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 หากต้นเดือนพฤษภาคม 2527 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์อีก 60,000 บาท แม้จำเลยจะออกเช็คสั่งจ่ายเงินล่วงหน้าฉบับละ20,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4, จ.6 และ จ.8 ให้โจทก์ยึดถือไว้ก็ตาม เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.8และ ล.10 เป็นเงินรวม 330,000 บาท และยังไม่ชำระเหตุใดโจทก์จึงไม่ให้จำเลยทำสัญญากู้และมีผู้ค้ำประกันตามที่เคยปฏิบัติมาจำเลยเบิกความว่า จำเลยได้ออกเช็คให้โจทก์รวม 10 ฉบับ เพื่อเป็นการค้ำประกันดอกเบี้ยที่ค้างชำระและชำระดอกเบี้ยที่จะต้องชำระล่วงหน้าตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย ล.16 เช็คเอกสารหมาย จ.4, จ.6 และจ.8 จำเลยออกเช็คเพื่อค้ำประกันการชำระดอกเบี้ยเงินกู้แก่โจทก์ตามคำเบิกความของโจทก์ หลังจากจำเลยได้ทำสัญญากู้ตามเอกสารหมาย ล.8 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์แต่อย่างใดเชื่อว่า จำเลยได้ออกเช็คเอกสารหมาย จ.4, จ.6 และ จ.8 เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โจทก์จำเลยรับกันว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.8 และ ล.10รวมเป็น 330,000 บาท ตามสัญญาคิดดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาทต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อคิดดอกเบี้ยในต้นเงิน 330,000 บาทเป็นดอกเบี้ยเดือนละ 4,125 บาท จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แม้ตามสัญญากู้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตามกฎหมายก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยย่อมนำสืบถึงการชำระดอกเบี้ยได้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์หาได้รับฟังข้อเท็จจริงโดยผิดกฎหมายแต่ประการใดไม่ และฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คตามฟ้องชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้แก่โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยใช้เงินตามเช็คไม่ได้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน

Share