คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คธนาคาร ก. จำนวน4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้การกู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและการบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คฯลฯ ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพากษาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วม โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยมีตราของบริษัท ซ. ประทับอยู่ด้วยนั้น ไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท ซ. จำเลยก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัทและเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัท ซ. ออกเช็คพิพาท ดังนี้โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้ โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความทำนองเดียวกันว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม คือ จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศนีอยุธยา จำกัด สาขาถนนพัฒนาการ จำนวน 4 ฉบับ มอบให้แก่นางยุพิน ว่องวัฒนาศานติ ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้การกู้ยืมเงิน อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายฉบับแรกเลขที่ 0184599 ลงวันที่ 23 เมษายน 2536 จำนวนเงิน100,000 บาท ฉบับที่สอง เลขที่ 0184598 ลงวันที่ 30 เมษายน2536 จำนวนเงิน 50,000 บาท ฉบับที่สาม เลขที่ 0196517 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จำนวนเงิน 10,000 บาท และฉบับที่สี่เลขที่ 0196519 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 จำนวนเงิน300,000 บาท เมื่อผู้เสียหายนำเช็คทั้งสี่ฉบับเข้าบัญชีของผู้เสียหายที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาพาหุรัดพลาซ่าเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย โดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดตัวแล้วและโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โดยเช็คฉบับที่ 1และที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2536 เช็คฉบับที่ 3 ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2536และเช็คฉบับที่ 4 ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน2536 ทั้งนี้ โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น หรือออกเช็คโดยขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เกิด พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางยุพิน ว่องวัฒนาศานติ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวม4 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 4 เดือน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เช็คที่โจทก์นำมาฟ้องทั้ง 4 ฉบับเป็นเช็คของบริษัทซี บี เอส คาร์โก้ แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัดโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับบริษัทซี บี เอส คาร์โก้ แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่ามีเหตุสมควรให้จำเลยถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่หรือไม่พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด” การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาถนนพัฒนาการจำนวน 4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้การกู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คฯลฯ ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ส่วนการที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คหมาย จ.3, จ.6,จ.9 และ 7.12 ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมโดยมีตราของบริษัทซี บี เอส คาร์โก้ แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด ประทับอยู่ด้วยนั้น ไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท จำเลยก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัทเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็ครายนี้ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share