แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานละเมิดมาในคำฟ้องเดียวกันซึ่งไม่ใช่หนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่1ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ50,000บาททุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างจำเลยที่1กับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้จำเลยที่1ฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยที่2ก่อสร้างอาคารโดยประมาทเลินเล่อซึ่งนอกจากทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินแล้วยังทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยโจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินอันได้แก่ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่ต้องทุกข์ทรมานจิตใจและไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ไกลเกินเหตุ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 22, 13, 11/1 และ 18 ตามลำดับจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ทำการก่อสร้างอาคารตึก7 ชั้น ชิดติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือจำเลยที่ 2 ตอกเสาเข็มลงบนดินจนก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนไปทั่วบริเวณทำให้ส่วนต่าง ๆ ของตัวบ้านโจทก์ทั้งสี่แตกร้าวหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันก่อสร้างอาคารตึก 7 ชั้นโดยบุกรุกเข้ามาทำรั้วในที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ และก่อสร้างอาคารโดยไม่มีเครื่องมือสำหรับปิดกั้นกำบัง ทำให้เศษวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐหิน ปูน กรวด ทราย ไม้ และฝุ่นละอองต่าง ๆ ร่วงหล่นลงมาในบริเวณบ้านและที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและโจทก์ทั้งสี่ต้องทนทุกข์ทรมานจิตใจเป็นเวลานานขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน400,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 550,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน400,000 บาท และโจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการตอกเสาเข็มจริง แต่ไม่มากตามฟ้อง โจทก์ที่ 1เสียหาย 52,000 บาท โจทก์ที่ 2 เสียหาย 1,000 บาท และโจทก์ที่ 3เสียหาย 2,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 4 ไม่เสียหาย โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญบ้างเป็นบางครั้งเนื่องจากลมพัดแรงทำให้ผ้าใบที่ปิดกั้นฉีกขาด ฝุ่นละออง และเศษวัสดุก่อสร้างจึงร่วงหล่นลงมาบ้างก็เป็นธรรมดา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตจำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างว่า ถ้าหากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดี จำเลยที่ 1 อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ได้ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การว่า จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายเพราะจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งเหตุความเสียหายภายใน 14 วัน ตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัยและจำเลยร่วมจะต้องรับผิดเฉพาะความเสียหายต่อความมั่นคงทางโครงสร้างของตัวอาคารเท่านั้นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสี่ไม่มากตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 175,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 170,000 บาทโจทก์ที่ 3 จำนวน 150,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 143,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1เมษายน 2535) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ภายในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และจำเลยร่วมชำระเงินค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยเดือนร้อนให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 50,000 บาท ค่าเสียหายส่วนอื่นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานละเมิดมาในคำฟ้องเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เป็นหนี้ร่วมที่ไม่อาจจะแบ่งแยกได้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยเดือดร้อนให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 50,000 บาท ค่าเสียหายส่วนอื่นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉะนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและสูงเกินไปเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของบ้าน ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย เห็นว่า โจทก์ที่ 3บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 11/1 จำเลยที่ 1มิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ข้อเท็จจริงจึงยุติตามที่โจทก์ที่ 3 บรรยายฟ้อง ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 1ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารทำให้โจทก์ทั้งสี่หรือผู้อยู่ในครอบครัวของโจทก์ทั้งสี่ทุกข์ทรมานจิตใจนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายแก่ร่างกายและอนามัย โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินอันได้แก่ ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่ต้องทุกข์ทรมานจิตใจจากจำเลยที่ 2 ได้และไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ไกลเกินเหตุ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 446 วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน