แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลแขวงพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย แต่รอการลงโทษไว้ ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 22(2) ให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น ย่อมมีความหมายรวมถึงทั้งโจทก์จำเลยที่มีสิทธิจะอุทธรณ์มิได้หมายถึงให้สิทธิเฉพาะจำเลยที่จะอุทธรณ์ได้แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2504
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้ามือสลากกินรวบและจำหน่ายสลากกินรวลและเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกันโดยมิได้รับอนุญาต
ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดความพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗+ มาตรา ๔,๑๐,๑๒,๕ และพระราชบัญญัติการพนันแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติการพนันแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ให้จำคุกจำเลย ๖ เดือน ปรับ ๔๐๐ บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย ๓ เดือน ปรับ ๒๐๐ บาท แต่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์ขออย่ารอการลงโทษจำเลย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์โจทก์ต้องห้ามตามกฎหมาย พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒ ว่า “ในคดีอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง” ซึ่งกรณีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเมื่อลดโทษให้แล้วคงจำคุก ๓ เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี เป็นการใช้ดุลพินิจอันเป็นปัญหาในข้อเท็จจริง แต่พระราชบัญญัติที่กล่าวก็ได้ระบุข้อยกเว้นไว้ให้อุทธรณืคำพิพากษาในข้อเท็จจริง แต่พระราชบัญญัติที่กล่าวก็ได้ระบุข้อยกเว้นไว้ให้อุทธรณ์คำพิพากษาในข้อเท็จจริงได้ ในมาตรา ๒๒(๒) ว่า “คดีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้” ตามนี้ย่อมมีความหมายว่า คดีใดที่จำเลยต้องคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษานั้นได้ แม้จะเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะเป็นข้อยกเว้นจากหลักที่บัญญัติห้ามไว้ในวรรคแรก และตัวบทมาตรานี้ก็มิได้ระบุห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเฉพาะโจทก์หรือเฉพาะจำเลย ดังนั้น ข้อยกเว้นที่ให้อุทธรณ์ได้ในข้อเท็จจริงในบางกรณีก็ย่อมมีความหมายรวมถึงทั้งโจทก์จำเลย ซึ่งต่างก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ตามข้อยกเว้น เพราะมาตรา ๒๒(๒)
ที่บัญญัติว่า “คดีที่…ฯ” มิได้หมายถึงให้สิทธิพิเศษเฉพาะจำเลยที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ในกรณีนี้แต่ฝ่ายเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในกรณีนี้ได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายก ให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์โจทก์แล้วพิจารณาพิพากษาต่อไป